ถอดบทเรียน (อีกครั้ง) เหตุการณ์กราดยิงพารากอน

ถอดบทเรียน (อีกครั้ง) เหตุการณ์กราดยิงพารากอน

ถอดบทเรียน (อีกครั้ง) เหตุการณ์กราดยิงพารากอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความนี้เป็นการถอดความจากเสวนาเรื่อง “เหตุการณ์กราดยิง: บทสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไข” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นหลังเหตุการณ์ “กราดยิงหนองบัวลำพู” ซึ่ง Sanook นำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากมีความสอดคล้องกับเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น 

เหตุกราดยิงพารากอน สร้างความสะเทือนใจให้กับทุกคนที่ได้ทราบข่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การเข้าถึงอาวุธปืนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปลิดชีพประชาชน รวมไปถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ถูกตั้งคำถามอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ขึ้น ทั้งที่เหตุรุนแรงครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “พวกเราไม่เรียนรู้อะไรเลยหรือ”​

สื่อไทยไร้จรรยาบรรณ (จริงหรือ) 

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงหรือเหตุการณ์ความรุนแรง ในทางนิเทศศาสตร์สามารถจำแนกคนได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สื่อมวลชน ผู้บริโภคสื่อ และสื่อใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมสื่อมวลชนและผู้บริโภคสื่อเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย สื่อก็มีความพยายามที่จะนำเสนอข่าวที่เหมือนอยู่ในละคร หรือกระตุ้นเร้าเชิงอารมณ์ให้เกิดความน่าสนใจ ในทางกลับกันกลุ่มผู้บริโภคสื่อก็ต้องการบริโภคข่าวเชิงอารมณ์เช่นเดียวกัน ขณะที่กลุ่มสื่อใหม่ก็ใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างข้อมูลหรือคลิปวิดีโอ เพื่อผลิตซ้ำและเรียกดูซ้ำ ๆ ได้ ทำให้มีร่องรอยปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดเวลา 

“ในภาพรวม สังคมไทยชอบความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนละเลยมิติความเป็นมนุษย์ เรามีรสนิยมแปลกประหลาดในการเสพข่าว มันไม่ใช่แค่เรื่องข่าว แม้แต่บางครั้ง เนื้อหารายการบางอย่างเราก็ต้องการให้มีอารมณ์เชิงละครเข้ามาประกอบ อาจจะด้วยความที่มันขายได้หรืออะไรก็แล้วแต่ ประเด็นก็คือการจะบอกว่าสื่อไร้จรรยาบรรณ ไม่สามารถสรุปได้ง่ายขนาดนั้น มันเกี่ยวโยงกับจริตหรือค่านิยมบางอย่างของสังคมไทยที่เราชอบในสิ่งนี้ มันยังรวมถึงการไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้เคราะห์ร้ายและญาติมิตร” 

Getty Images

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ก็ระบุว่า ภาวะผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในฝ่ายของผู้ผลิตสื่อและผู้รับสื่อ นี่คือบทเรียนที่เป็นเรื่องใหญ่ และอาจจะลึกไปถึง “ระดับโครงสร้าง” มากกว่าจะสรุปว่าสื่อไร้จรรยาบรรณ 

“สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้พูดถึงกันมากนัก คือพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น มันมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดการลอกเลียนแบบในอนาคต ไม่ว่าจะสื่อหรือผู้ใช้สื่อที่ให้รายละเอียดทางด้านข้อมูลอย่างละเอียด เห็นภาพชัดเจน ที่ผ่านมาเราอาจจะพูดถึงความระมัดระวังต่อคนตาย ต่อเหยื่อ แต่เราไม่ได้พูดถึงความระมัดระวังต่อคนเป็น ที่วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดได้ ซึ่งมันก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลของการนำเสนอ หรือการส่งต่อข้อมูลที่ลึกซึ้งมากจนเกินความจำเป็น” รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา กล่าว

เหตุกราดยิง = ภาพสะท้อนสังคมไทย

“ตั้งแต่เกิดเหตุ จนถึงวิธีการที่เราเสพข่าว วิธีการที่เราสื่อข่าว มันคือภาพสะท้อนของความรุนแรง ในทางจิตวิทยา ความรุนแรงไม่ใช่การที่เราลุกขึ้นไปชกหน้าใคร แต่ด้วยวาจาที่ใช้ จะเป็นการพูดหรือการพิมพ์ แล้วเรามีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยหรือเปล่า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นตั้งคำถาม 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้น หลายคนมีความรู้สึกโกรธ อยากจะด่า อยากจะพูด หรือหาคนสักคนมาด่า แต่การที่เผยแพร่ข้อมูลในทางลบ การทำให้เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นด้วยวาจา กลับเป็น “การเติมฟืนให้เชื้อไฟ” และเมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Traumatic Event) เช่นนี้ “ทุกคนได้รับผลกระทบ” แต่ต้องรู้จักที่จะ “ระงับความรุนแรงในตัวเอง” ให้ได้

Getty Images

“เราทุกคนต้องกลับมาดู ว่าเมื่อเราถูกกระทบแล้ว เราต้องทำอย่างไร คำตอบคือในเมื่อเรารู้แล้วว่ามีความรุนแรงแบบนี้ ต้องควบคุมสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน ถ้าเราจะหยุดไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เราไม่ต้องขอให้ใครเปลี่ยนแปลง เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้เราได้บทเรียนแล้วว่าการเสพสิ่งรุนแรงส่งผลต่อจิตใจของเราในระยะยาว ดังนั้นต้องลดการเสพ ขั้นต่อมาเมื่อเรารู้สึกโกรธ หรือรู้สึกเศร้าเสียใจ “อย่ารู้สึกผิดกับความรู้สึกของเรา” สิ่งที่ต้องรู้คือสังคมยังมีการตีตราอยู่ เมื่อไรที่เรารู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกทางลบ เราก็จะกระหน่ำซ้ำเติมตัวเอง ความรู้สึกทางลบเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องยอมรับความรู้สึกทางลบ เมื่อเรารับรู้และยอมรับความรู้สึกนั้นได้ ถ้ารู้สึกมากจนท่วมท้นอก ให้ไปหานักจิตวิทยา แต่ถ้าไม่มี อย่างน้อยให้สื่อสารกับคนใกล้ตัวที่ใกล้ชิด” 

“เมื่อเกิดความสูญเสีย สิ่งที่เราควรจะทำ ไม่ใช่ความรุนแรงต่อกัน แต่เปลี่ยนเป็นพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก นี่จะเป็นการเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุด สิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งเราทำอยู่ในตอนนี้ คือลักษณะของการหาคนผิด ใครที่ผิด หน่วยงานใด องค์กรใด แต่พฤติกรรมที่เกิดไม่ได้เกิดขึ้นจากหนึ่งสาเหตุ ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะทำคือเลิกลงโทษ อันนั้นเป็นหน้าที่ของกฎหมาย แต่สิ่งที่เราควรจะทำคือ เราเสียใจร่วมกัน เราระงับความรุนแรงด้วยตัวเรา และเราเปลี่ยนความเสียใจนี้ ความสูญเสียนี้ ให้เป็นสิ่งที่เราจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้เราต้องมาถอดบทเรียนกันอีก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา ชี้ 

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อยากยอมรับ

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่าปัญหาหลักของสังคมไทยในตอนนี้ คือคนในสังคมไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์กราดยิงเป็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง ซึ่งการยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไข แต่ตราบใดที่สังคมยังคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นปัญหา ก็จะไม่มีความพยายามในการลุกขึ้นมาแก้ไข ในขณะที่ต่างประเทศมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แต่เมืองไทยกลับไม่เคยมี แม้จะเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน 

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น แต่มันกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้เกิดความสะเทือนใจ ความหดหู่ และที่สำคัญที่สุดคือทำให้เกิดความกลัว ความกลัวที่เกิดขึ้นมันกระทบอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของสังคม และนั่นคือปัญหาหลัก ความไม่ปลอดภัยได้เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วในสังคม นั่นคือโจทย์ใหญ่ว่า รัฐในวันนี้มีหน้าที่ในการทำอย่างไรก็ได้ ที่จะทำให้ความปลอดภัยเกิดขึ้น และทำให้ความรู้สึกปลอดภัยของคนในสังคมกลับคืนมา” 

Getty Images

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ระบุว่า อัตราการเกิดอาชญากรรมแปรผันโดยตรงกับความเคร่งครัดเข้มงวดของกฎหมายควบคุมและเข้าถึงอาวุธปืน ทำให้เกิดคำถามว่าเป็น “ความหละหลวม” ของการควบคุมและกำกับดูแลการถือครองอาวุธปืนของประเทศไทยหรือไม่ เช่นเดียวกับกฎหมายเรื่องยาเสพติด และการดูแลบำบัดผู้ใช้ยาเสพติด 

“ปัญหาของประเทศไทยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องตัวบทกฎหมาย แต่เราไม่มีระบบในการรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเลย นั่นคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการบังคับใช้กฎหมาย” 

สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ระบุว่า สังคมไทยยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าการนำเสนอของสื่อมีผลต่อพฤติกรรมหรือการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ หรือวิธีการนำเสนอข่าวมีผลต่อสำนึกความรู้สึกของผู้รับสื่ออย่างไร ซึ่งการศึกษาวิจัยในลักษณะนี้จะทำให้สังคมรู้ว่าการเสนอข่าวส่งผลต่ออนาคต ดังนั้น สื่อก็จะไม่นิ่งเฉย เมื่อพบว่าตัวเองมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการกระทำของผู้คน หรืออาจทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมลักษณะนี้ในอนาคต 

“เราต้องลดการด่วนสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นผลมาจากอะไรเพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียว ในการสื่อสาร หรือแม้แต่สื่อเองก็ต้องระมัดระวังในการสรุปอะไรแบบนี้ อีกอย่างหนึ่งที่อยากเสริมคือ ธุรกิจหรือโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ก็ควรเข้าร่วมแคมเปญที่สื่อควรจะระมัดระวัง ไม่เสนอข่าวที่กระตุ้นความรู้สึก ไม่ลงรายละเอียดข่าว เพราะฉะนั้น ธุรกิจหรือโฆษณาสินค้าใด ๆ ก็ตามที่เห็นว่าสื่อมีวิธีการนำเสนอแบบนี้เพื่อเรียกเรตติ้ง ก็ควรช่วยกันบอยคอตหรือไม่สนับสนุน” รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา เสนอ

Getty Images

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา ร่วมเสนอว่า นักวิจัยหรือผู้ให้ทุนวิจัยต้องยอมรับได้แล้วว่า “ความรุนแรงในสังคมเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและหาวิธีป้องกัน” เพราะการป้องกันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีความรู้เพียงพอ เช่นเดียวกับนโยบายการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการจิตบำบัดและการพบนักจิตวิทยา ก็จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงได้

“นี่ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เมื่อมันมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐในการจะดำเนินการเพื่อวางแนวทางและโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แล้วถ้ามันเกิดขึ้นอีก รัฐต้องมีแผนรับมือกับจัดการสถานการณ์แบบนี้อย่างเป็นระบบ ถ้าหากมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก โดยไม่เห็นว่ามีการดำเนินการใด ๆ เพื่อจะทำการป้องกันหรือรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ อันนั้นก็คือปัญหาใหญ่ นั่นคือความบกพร่องของรัฐที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับสังคม และความรู้สึกปลอดภัยให้กับประชาชนที่อยู่ในประเทศ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook