เผยเด็ก 14 อาจถูกส่งแอดมิตนอกสถานพินิจ หากประเมินแล้วมีภาวะจิตเวชรุนแรง

เผยเด็ก 14 อาจถูกส่งแอดมิตนอกสถานพินิจ หากประเมินแล้วมีภาวะจิตเวชรุนแรง

เผยเด็ก 14 อาจถูกส่งแอดมิตนอกสถานพินิจ หากประเมินแล้วมีภาวะจิตเวชรุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผย กรณีกระบวนการรับตัว เด็กชายวัย 14 ปี ที่ก่อเหตุยิงในห้างดัง ว่า จากการที่เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ได้รับตัวเมื่อช่วงเย็นวานนี้ โดยทราบว่าบิดาของเด็กชายได้เดินทางมาส่งด้วย เพราะมีความห่วงใยเป็นห่วงลูกชาย

ขั้นตอนการแรกรับ ทางสถานพินิจฯ โดยนักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ พ่อบ้านแรกรับ หรือพ่อบ้านแห่งบ้านเมตตา จะร่วมกันพูดคุยสอบถามในเบื้องต้น รวมถึงประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นร่วมด้วย และเด็กชายจะได้รับการกักโรคโควิด-19 ก่อน 5 วัน

ระหว่างนี้ก็จะมีการประเมินเรื่องสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง และจะประสานปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หากแพทย์มีความเห็นว่าเด็กชายมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือแอดมิต (Admit) ก็จะมีการทำรายงานพร้อมแนบความเห็นแพทย์เสนอต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลรับทราบว่าจะมีการส่งต่อเด็กชายไปนอนพักเข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันกัลยาณ์ฯแทน

ซึ่งเป็นหลักปกติทั่วไปที่เด็กๆ รายใดซึ่งมีอาการจิตเวชร่วมด้วยนั้น จะได้รับการส่งต่อดูแลโดยเเพทย์เฉพาะทาง อาจจะด้วยการที่แพทย์มีความเห็นให้แอดมิต หรือมีความเห็นจ่ายยารักษา เป็นต้น ส่วนระยะการรักษาตัว หากมีการแอดมิต จะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากเด็กชายได้รับการประเมินสุขภาพจิตและพบว่าอยู่ในขั้นที่ไม่วิกฤติหรือน่าเป็นกังวล จิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็จะมีการร่วมกันกำหนดถึงกระบวนการรักษาหรือโปรแกรมต่างๆหลังจากนี้ที่เด็กชายจะต้องเข้าร่วมระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเด็กชายก็จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆคนอื่นๆในบ้านเมตตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมและได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย

น.ส.ศิริประกาย กล่าวอีกว่า จากการได้รับรายงานพบว่าวานนี้ หลังการรับตัวและประเมินสุขภาพเบื้องต้น เด็กชายไม่ค่อยพูดจา อาจเพราะเพิ่งได้เข้ามายังภายในสถานพินิจฯ ยังมีความไม่คุ้นชิน และตนยังไม่ได้รับแจ้งว่าเด็กชายได้แสดงความประสงค์ไม่อยากอยู่ที่นี่หรือเรียกร้องกลับบ้านแต่อย่างใด และไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร แต่แน่นอนว่าจะมีอาการวิตกกังวลบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องถูกแยก อาจกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่ยังไม่มีอาการร้องไห้ฟูมฟายหรือซึมเศร้าผิดปกติ อยู่ระหว่างการค่อยๆปรับตัว

เมื่อถามว่าทางบิดาของเด็กชายได้ฝากฝังในเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่นั้น น.ส.ศิริประกาย กล่าวว่า เท่าที่ตนได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ ทราบว่าบิดาของเด็กชายค่อนข้างรู้สึกเสียใจ ส่วนเรื่องอาการทางจิตหรือการฝากฝังดูแล เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ ก็ได้ทำความเข้าใจกับคุณพ่อของเด็กชายถึงเรื่องกระบวนการในการดูแลเด็กชาย และการออกรายงานของกรมพินิจฯ คือ การสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กชาย เเละเราจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็กๆทุกคนที่จะเข้ามาที่สถานพินิจฯ ว่าจะมีกิจกรรมการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง หรือมีโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยอย่างไรบ้าง เพื่อส่งเสริมด้านการบำบัดให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ

เมื่อถามว่าทางผู้ปกครองจะขอนำตัวเด็กชายไปรักษาตัวภายนอกกับแพทย์เองได้หรือไม่นั้น น.ส.ศิริประกาย กล่าวว่า ทางผู้ปกครองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งแจ้งกลับว่าอนุญาตหรือไม่

ในส่วนของสถานพินิจฯ จะรับหน้าที่เป็นสถานที่สำหรับเด็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอของผู้ปกครอง ศาลจะมีเอกสารแจ้งมายังสถานพินิจฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลต่อไป และผู้ปกครองจะต้องเดินทางมายังสถานพินิจฯ เพื่อเซ็นเอกสารสำหรับการรับตัวเด็ก ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน และกระบวนการใดๆทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กชายหลังจากนี้ ศาลเยาวชนฯจะต้องรับทราบทุกเรื่อง เพราะเรื่องการตัดสินใจใดๆของผู้ปกครองที่มีผลต่อเด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook