นักวิชาการแนะรัฐตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาหมอกควัน

นักวิชาการแนะรัฐตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาหมอกควัน

นักวิชาการแนะรัฐตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาหมอกควัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มช.แนะรัฐบาลตั้ววอร์รูมแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เหตุปัญหาเริ่มลุกลามครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัด

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของภาคเหนือกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 ที่เกิดวิกฤตหมอกควันขึ้นครั้งแรก หลังจากนั้นปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปีต่อเนื่องในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. และไม่มีแนวโน้มดีขึ้น แม้หลายหน่วยงานพยายามแก้ไข โดยเฉพาะหมอกควัน และมลพิษทางอากาศที่อีกขึ้นในปี 2553 ขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัดของภาคเหนือจนปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 10 สูงเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศในปีนี้ รัฐบาลควรตั้งวอร์รูมขึ้นมาเหมือนที่เคยดำเนินการในปี 2550 เนื่องจากในห้วงหลายปีที่ผ่านมามีตัวอย่างชัดเจนแล้วว่า หากปล่อยให้จังหวัดดำเนินการเองไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถสั่งการหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งวอร์รูมขึ้นมาเพื่อประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบูรณาการการทำงานในพื้นที่และใกล้เคียง เพราะขณะนี้ปัญหาได้ลุกลามครอบคลุมเกือบครบทั้ง 8 จังหวัดแล้ว หากปล่อยให้แต่ละจังหวัดจัดการกันเองอาจไม่ประสบผลสำเร็จ

รศ.ด.พงศ์เทพ กล่าวว่า การตั้งวอร์รูมขึ้นมาแก้ปัญหาหมอกควันและมลพิษควรรีบดำเนินการทำในช่วงวิกฤตสั้นๆที่เกิดขึ้น 1 - 2 เดือน เช่นการจัดชุดเฝ้าระวังปัญหาไฟป่า มีการบินสำรวจพื้นที่ทุกวันหากพบมีไฟป่าเกิดขึ้นสามารถแจ้งให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการได้ทันทีหรือขอความร่วมมือหน่วยงานทหารเข้ามาช่วย หากปล่อยให้ไฟไหม้นานอาจลุกลามจนขยายวงกว้าง อะไรที่มีความจำเป็นก็ควรทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อแก้วิกฤตหมอกควันและมลพิษทางอากาศ เช่น การจัดซื้อสารเคมีเพื่อดับไฟ ฯลฯ เพราะวิกฤตหมอกควันได้สร้างความเสียหายชัดเจนต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย ส่วนระยะยาวต้องจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

"หมอกควันและมลพิษทางอากาศ 90% ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเฉียบพลัน ทำให้ประชาชนมีอากาศแสบตา แสบจมูก ฯลฯ ส่วนระยะยาวถ้าปล่อยให้เกิดวิกฤตต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดรายใหม่ โรคถุงลมโป่งพอง และโรงมะเร็ง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่ยังไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจนแต่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงถ้าปล่อยให้ประชาชนเผชิญปัญหาดังกล่าวทุกปี" รศ.ดร.พงศ์เทพ กล่าว

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 10 ซึ่งประเทศไทยใช้เกณฑ์ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่ในยุโรปกำหนดไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกก็แนะนำควรกำหนดมาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เพราะฝุ่นขนาดเล็กที่เกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว แต่ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานไว้สูงถึง 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทำให้เห็นว่าปัญหายังไม่รุนแรง แต่ถ้าปรับลดลงมาเหลือ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. อาจกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาให่ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook