กรมศิลป์พาชาวเขมราฐพิสูจน์ชุมชน3,500ปี

กรมศิลป์พาชาวเขมราฐพิสูจน์ชุมชน3,500ปี

กรมศิลป์พาชาวเขมราฐพิสูจน์ชุมชน3,500ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมศิลปากรเผยชุมชนโบราณราว 2,300ปีที่เขมราฐ อุบลฯ พบหลักฐาน หม้อฝังศพ อาจเก่ากว่า หม้อศพแคปซูล ราว 3,500ปี

วันนี้(3 มีนาคม) นางสาวสุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากกรมศิลปากรได้รับรายงานเมื่อพ.ศ.2551 ชาวบ้านชุมชน ต.เจียด อ.เขมราฐ อุบลราชธานี ได้ขุดดินถมวัดภูถ้ำพระศิลาทองเพื่อสร้างพระอุโบสถ แล้วพบโครงกระดูก ภาชนะดินเผา โบราณวัตถุต่างๆ จึงได้แจ้งให้กรมศิลปากรเร่งพิสูจน์

ต่อมา พ.ศ.2552 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พัฒนาแหล่งโบราณคดี นำโบราณวัตถุทั้งหมดมาทำความสะอาด จัดหมวดหมู่ จัดนิทรรศการ สร้างกิจกรรมเพื่อการส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมา พร้อมกับพิสูจน์หลักฐานโบราณคดีทั้งหมดเพื่อศึกษาถึงความเป็นมาชุมชน

นางสาวสุกัญญา กล่าวต่อไปว่า สำหรับโบราณวัตถุสำคัญที่พบ ดังนี้ 1.โครงกระดูกมนุษย์ ได้แก่ กะโหลก ฟัน และชิ้นส่วนต่างๆ 2.ภาชนะบรรจุศพ หรือบรรจุกระดูก เป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มาก ลักษณะทรงกลมบ่ากว้างและสอบแคบลงที่ส่วนก้นมนรี ปากกว้าง คอค่อนข้างยาว ขอบปากม้วนกลม ด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือก เครื่องจักสานทาบจำนวน 4 ใบ ทุกใบมีฝาปิด ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินทรงคล้ายกระทะ ก้นตื้น ด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือก และเครื่องจักสานทาบ วางคว่ำครอบปิดปาก ภาชนะบรรจุกระดูก 3.ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆได้แก่ หม้อก้นกลม ชามมีสัน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เขียนสี และผิวเรียบ 4.เครื่องใช้ทำจากดินเผา ได้แก่ ลูกดิ่ง ลูกแว หรืออุปกรณ์การปั่นด้ายเพื่อใช้ในการทอผ้า

5.เครื่องประดับทำจากหินหายาก ได้แก่ ลูกปัดหิน คาร์เนเลี่ยน (หินสีส้ม) ทรงกลมและ ทรงแบน 6.เครื่องประดับทำจากแก้วหลากสีสัน ได้แก่ กำไล ต่างหู ลูกปัดแก้วเม็ดเล็กๆสีแดง (มูติซารา) สีฟ้า สีเขียว 7.เครื่องประดับทำจากโลหะสำริด ได้แก่ กำไลแขน(ก้องแขน) ทรงกระบอก กำไลข้อมือทรงกลม ทรงกระบอกสั้น กำไลทรงมงกุฎ (ด้านบนคล้ายกลีบดอกไม้ด้านล่างเป็นเปีย) นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับ(สร้อย) ลักษณะพิเศษ โดยทำเป็นแผ่นแบนประดับด้วยการห้อยลูกพรวนเป็นแถว 8.เครื่องมือเครื่องใช้สำริด ได้แก่ ลูกกระพรวน กระดึงผูกคอสัตว์ 9.เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากเหล็ก ได้แก่ มีด หอก จอบ ขวานมีบ้องหลากหลายรูปแบบ และเครื่องมือเหล็กรูปแบบพิเศษ เป็นต้น

"จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการอยู่ยุคโลหะ หรือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อกับยุคหัวเลี้ยวต่อประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,300 ปีมาแล้ว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีสุสานโบราณ เนื่องจากการค้นพบ ภาชนะดินเผาบรรจุศพ โครงกระดูกมนุษย์พร้อมกับโบราณวัตถุได้แก่เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆซึ่งเป็นของอุทิศ หรือ เครื่องเซ่น ให้กับศพ ตามความเชื่อที่ว่าคนตายจะต้องผ่านเข้าไปสู่โลกหลังความตาย หรือ ปรโลกการใช้สำริดและการประดิษฐ์ภาชนะฝังศพที่เป็นหม้อดินเผา เราพบภาชนะบางใบในเขมราฐนำศพฝังในภาชนะ เป็นรูปแบบพิเศษก่อนที่จะวิวัฒนาการนำกระดูกฝังภาชนะหม้อดินเผา หรือโรงศพแบบแคปซูล น่าจะมีการศึกษาต่อไปถึงรูปแบบการบรรจุศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นนี้ว่าจริงเท็จประการใด หากพบหลักฐานแน่ชัด ภาชนะหม้อที่ฝังศพนี้จะมีอายุเก่า 3,500 ปีก็ได้" นางสาวสุกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 ยังเชื่อว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง มีการติดต่อสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอก เช่น จีน เวียดนาม และลาว ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงลุ่มแม่น้ำมูล โดยกรมศิลปากรจะเริ่มขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขมราฐอย่างจริงจังในเดือนมีนาคม-เมษายน 2553

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook