รู้จัก “ดาวเทียม THEOS-2” ผลงานคนไทย ทำหน้าที่อะไร และมีประโยชน์อย่างไร
ถือเป็นอีกหนึ่งโมเม้นต์ประวัติศาสตร์ของไทย หลังจากเมื่อวานนี้ (9 ต.ค. 2566) เราได้ทำการส่ง “ดาวเทียม THEOS-2” ขึ้นสู่อวกาศเป็นที่สำเร็จ ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทย ในรอบ 15 ปี ทั้งยังเป็นดาวเทียมที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย
ทว่า หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จัก “ดาวเทียม THEOS-2” ดีสักเท่าไร หรือมันถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่และมีประโยชน์อย่างไร Sanook ขอพาทุกคนไปรู้จักดาวเทียมฝีมือคนไทยดวงนี้กัน
ดาวเทียม THEOS-2 คืออะไร
ดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส-2) คือสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญคือเป็นฝีมือคนไทย
โดยดาวเทียม THEOS-2 ของไทยนั้น เริ่มต้นจากโครงการ THEOS (ธีออส) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก่อตั้งขึ้นนในปี พ.ศ.2543 โดยคำว่า THEOS เป็นคำย่อมาจากคำว่า “Thailand Earth Observation Satellite” ที่หมายถึงระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย และคำว่า THEOS ก็เป็นคำที่พ้องคำว่า “พระเจ้า” ในภาษากรีก
ดาวเทียม THEOS-2 เป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจากดาวเทียม THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551
วัสดุของดาวเทียม THEOS-2
ดาวเทียม THEOS-2 ใช้วัสดุหลักถึง 3 ประเภท ได้แก่ อลูมิเนียมเกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์ โดยวัสดุอลูมิเนียมจะถูกออกแบบเป็นโครงสร้างหลักของดาวเทียม เพื่อใช้เป็นโครงหลักในการยึดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่วนแผ่นผนังรังผึ้งและคาร์บอนไฟเบอร์ จะเป็นโครงสร้างของแผงโซลาเซลล์ด้านนอก เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงต่อการใช้งาน
ทั้งนี้ การเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิดถูกออกแบบให้สอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละวัสดุ เพื่อลดน้ำหนักโดยรวมของดาวเทียม รวมถึงลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบดาวเทียม
ประโยชน์ของดาวเทียม THEOS-2
หน้าที่ของดาวเทียม THEOS-2 คือใช้ในการเก็บภาพรายละเอียดสูง ถึง 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูง (Very High Resolution) ที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถเทียบชั้นได้กับดาวเทียมรายละเอียดสูงในกลุ่มผู้นำโลก โดยสามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลมาที่สถานีภาคพื้นดินได้ ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และถูกวางโครงสร้างให้มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี
ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย โดยจะใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาพัฒนาด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ด้านการเกษตร
- ด้านการจัดการเมือง
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ด้านการจัดการน้ำ
- ด้านการจัดการภัยพิบัติ
- ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของดาวเทียม THEOS-2 ได้ที่: GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)