เปิดประวัติศาสตร์ขัดแย้ง "อิสราเอล-ฮามาส" ความหมายของชื่อเรียก "สงครามยมคิปปูร์"
ตีแผ่ความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ฮามาส' กับประวัติศาสตร์สงครามยมคิปปูร์
นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่า อิสราเอลกำลังอยู่ใน "ภาวะสงคราม" หลังจากที่กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ยิงจรวดหลายพันลูกและส่งนักรบบุกเข้าไปในเมืองหลายแห่งของอิสราเอล เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว
ต่อมาอิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซ่าเพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส สังหารประชาชนหลายร้อยคน และบาดเจ็บมากกว่าหนึ่งพันคน ถือเป็นการโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีต่อชาวปาเลสไตน์
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การตอบโต้ของอิสราเอลเกิดขึ้นหลังจากที่นายกฯ เนทันยาฮู ประกาศว่า กลุ่มฮามาสต้องชดใช้ "อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" และได้สั่งการให้เคลื่อนกำลังทหารสำรองของอิสราเอลแล้ว
ความขัดแย้งล่าสุดครั้งนี้คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อ 50 ปีก่อนที่ทหารอียิปต์และซีเรียโจมตีใส่อิสราเอลในช่วงเดียวกันนี้ จนนำไปสู่ "สงครามยมคิปปูร์" เมื่อปี 1973
- ทำไมจึงเรียกว่าสงครามยมคิปปูร์?
ยมคิปปูร์ (Yom Kippur) คือหนึ่งในวันที่มีความสำคัญทางศาสนามากที่สุดของชาวยิว ซึ่งบางคนเรียกว่า วันแห่งการไถ่บาป (Day of Atonement)
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 1973 กองกำลังจากอียิปต์และซีเรียบุกโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัว สงครามดังกล่าวกินเวลา 19 วันและจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจให้แก่ชาวอิสราเอลมากที่สุด และก่อให้เกิดคำถามถึงความสามารถในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ซึ่งทางรัฐบาลอิสราเอลประกาศว่าจะไม่ยอมให้เกิดการโจมตีลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุดในวาระครบรอบ 50 ปีสงครามยมคิปปูร์ทำให้เกิดคำถามถึงการเตรียมพร้อมของอิสราเอลอีกครั้ง ในช่วงที่กำลังเกิดความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศ สืบเนื่องจากการเดินขบวนต่อต้านแผนปฏิรูประบบยุติธรรมของเนทันยาฮู
- ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์โจมตีครั้งล่าสุดขึ้น?
กลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อปี 2006 และปกครองฉนวนกาซ่ามาตั้งแต่นั้น
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์สามารถเดินทางจากฉนวนกาซ่าเข้าไปในอิสราเอลได้ค่อนข้างเสรี แต่ไม่นานนี้ทั้งฉนวนกาซ่าถูกปิดกั้นอีกครั้งจากทั้งฝั่งอิสราเอลและอียิปต์ จำกัดการเดินทางของประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนในพื้นที่ที่มีขนาดพอ ๆ กับกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ
โมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้นำกลุ่มนักรบฮามาส กล่าวว่า การโจมตีในวันเสาร์คือการตอบโต้ต่อการปิดกั้นฉนวนกาซ่าและการโจมตีของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงค์ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รวมถึงความรุนแรงที่สุเหร่าอัลอักซาในนครเยรูซาเล็ม และการขยายเขตชุมชนของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์
เดอิฟ กล่าวด้วยว่า การโจมตีเมื่อวันเสาร์นั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นของปฏิบัติการที่เรียกว่า "Operation Al-Aqsa Storm" พร้อมเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมในการลุกฮือต่อสู้กับอิสราเอล
ก่อนหน้านี้ เพิ่งเกิดเหตุการณ์กองทัพอิสราเอลบุกโจมตีเมืองต่าง ๆ ในปาเลสไตน์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบเกือบ 20 ปี ซึ่งทางอิสราเอลยืนยันว่าเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีของปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในดินแดนของอิสราเอล
- สหรัฐฯ มีท่าทีอย่างไรต่อความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสว่า "ไร้สามัญสำนึก" ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่อิสราเอลในการป้องกันตนเองตามที่อิสราเอลต้องการ
ปธน.ไบเดน กล่าวที่ทำเนียบขาวในวันเสาร์ว่า "สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างประชาชนอิสราเอลในการเผชิญกับการโจมตีของผู้ก่อการร้าย และอิสราเอลมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเองและประชาชนของตน" และว่า "นี่ไม่ใช่เวลาที่ศัตรูของอิสราเอลจะฉวยโอกาสจากการโจมตีครั้งนี้ และทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่"
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีแถลงการณ์ว่า "ไม่มีข้ออ้างใด ๆ สำหรับการก่อการร้าย เราขอยืนหยัดร่วมกับรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล และขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียในการโจมตีครั้งนี้"
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส กล่าวกับรัฐมนตรีบลิงเคนทางโทรศัพท์ว่า "ความอยุติธรรม" ต่อชาวปาเลสไตน์ คือแรงผลักดันให้ความขัดแย้งกับอิสราเอล "ระเบิดออกมา" ส่วนจะมีการลดระดับความขัดแย้งนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับท่าทีของอิสราเอลหลังจากนี้ อ้างอิงจากสื่อ WAFA
- ท่าทีของบรรดาประเทศในตะวันออกกลางและผู้นำโลก
เมื่อวันเสาร์ สื่อของทางการอิหร่าน ISNA รายงานว่า ที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดอิหร่าน อาลี คาเมนี กล่าวแสดงความยินดีต่อนักรบกลุ่มฮามาส พร้อมยืนยันว่าอิหร่านจะอยู่เคียงข้างปาเลสไตน์ "จนกว่าจะมีการปลดปล่อยปาเลสไตน์และนครเยรูซาเล็ม"
ขณะที่ภาพจากโทรทัศน์อิหร่านแสดงให้เห็นสมาชิกรัฐสภาอิหร่านลุกขึ้นยืนตะโกนสาปแช่งอิสราเอล
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์กล่าวเตือนถึง "ผลที่จะตามมา" พร้อมขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้นอย่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์มีแถลงการณ์ว่า อิสราเอลคือผู้รับผิดชอบต่อการยกระดับความรุนแรงต่อประชาชนปาเลสไตน์ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดกลั้น
สหประชาชาติมีแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งการใช้ความรุนแรง พร้อมยืนยันว่าประชาชนจะต้องไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตี
ด้านนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์, ประธานาธิบดียูคเรน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี, นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ และสหภาพยุโรป ต่างออกมาประณามการโจมตีโดยกลุ่มฮามาส พร้อมระบุว่าจะยืนข้างอิสราเอล
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง "อยู่ในความสงบ ใช้ความอดกลั้น และยุติการจับตัวประกันเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนและหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์ลุกลามออกไป" พร้อมยืนยันว่า หนทางที่จะยุติความขัดแย้งนี้คือการปฏิบัติตาม "แนวทางสองรัฐ" และจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระโดยเร็ว