"วิโรจน์" เปิด 6 กรอบการทำงาน กมธ.ทหาร มุ่งตรวจงบกองทัพ-ปรับขนาดกำลังพล

"วิโรจน์" เปิด 6 กรอบการทำงาน กมธ.ทหาร มุ่งตรวจงบกองทัพ-ปรับขนาดกำลังพล

"วิโรจน์" เปิด 6 กรอบการทำงาน กมธ.ทหาร มุ่งตรวจงบกองทัพ-ปรับขนาดกำลังพล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิโรจน์ เปิด 6 กรอบนโยบายคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร มุ่งตรวจงบกองทัพ-ปรับขนาดกำลังพล

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประธานกรรมาธิการการทหาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมร่วมกัน และได้กำหนดกรอบนโยบายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมถึง งบประมาณของกองทัพ การก่อหนี้ผูกพัน สวัสดิการเชิงธุรกิจ เงินนอกงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากรระหว่างทหาร และพลเรือน การลดขนาดกองทัพ สวัสดิการ และสวัสดิภาพของทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งสามารถสรุปกรอบนโยบายได้ทั้งสิ้น 6 ด้าน ด้วยกัน คือ

1 ติดตามตรวจสอบงบประมาณ การก่อหนี้ผูกพัน และการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ และกระทรวงกลาโหม สวัสดิการเชิงธุรกิจ เสนาพาณิชย์ และเงินนอกงบประมาณ ให้มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มีการนำเอาแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ความมั่นคง (Economics of Defense) มาใช้เป็นแนวทางในการกำกับติดตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การลงทุน และการใช้จ่ายงบประมาณ สอดคล้องกับความมั่นคงของประเทศในรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น

  • การซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์โดยมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไข
    นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย (Offset Policy)
  • การโอนการถือครองที่ดินของกองทัพ ให้แก่รัฐบาลเพื่อจัดสรรเป็นที่ทำกินให้กับประชาชน หรือทำประโยชน์ต่อสาธารณะ
    การบริหารจัดการพื้นที่ของกองทัพ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน เช่น แก้มลิงรับน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย การบริหารจัดการขยะ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากแสงอาทิตย์ ชีวมวล หรือลม
  • ภารกิจการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด การลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และน้ำมันเถื่อน
    การใช้เงินนอกงบประมาณของกองทัพไปลงทุนในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ในรูปแบบใหม่

2 สร้างเครือข่าย และขยายกลุ่มการทำงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อติดตามตรวจสอบการจัดสรรทรัพยากรระหว่างทหาร และพลเรือน ให้มีความเป็นธรรม เพื่อจรรโลงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และกองทัพ ตลอดจนพัฒนาช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาของกองทัพ ที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

3 ติดตามตรวจสอบ เพื่อให้กองทัพมีขนาดที่เหมาะสม มีจำนวนนายทหารระดับสูง และทหารกองประจำการ ที่พอเหมาะต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ ปราศจากการนำเอากำลังพลไปใช้แรงงาน ที่มิใช่ภารกิจของกองทัพ หรือนำไปใช้ในงานที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

4 ติดตาม ดูแลสวัสดิภาพ และสวัสดิการ ของข้าราชการทหาร ข้าราชการทหารชั้นผู้น้อย ทหารกองประจำการ ทหารผ่านศึก ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากการซ้อมทรมาน การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

5 ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลพลเรือน และหลักนิติรัฐ พลเรือน และทหารมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ไม่มีการปฏิบัติการใดของกองทัพ ที่กระทบกับสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน

6 ศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนเหล่าทัพ และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ซึ่งคณะกรรมาธิการการทหาร จะใช้กรอบทั้ง 6 ด้านข้างต้นนี้ เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ เป็นไปด้วยความสุจริต มีสำนึกในการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างโปร่งใส และแน่นอนว่า จะต้องเป็นกองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook