ปิดตํานาน 72 ปี “ตํารวจรถไฟ” ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ประวัติยาวนานตั้งแต่รัชกาลที่ 5
ปิดตํานาน 72 ปี “ตํารวจรถไฟ” ยุติการปฏิบัติหน้าที่ 17 ต.ค.66 ตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจ
เพจเฟซบุ๊กสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โพสต์ข้อความระบุว่า ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ “ตำรวจรถไฟ” จะยุติปฏิบัติหน้าที่ โดยการยุบเลิก “ตำรวจรถไฟ” เป็นไปตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจ ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
โดย “ตำรวจรถไฟ” ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟ”
จนเมื่อ ช่วง พ.ศ.2491-2494 ได้มีเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและชีวิต ของประชาชนที่โดยสารรถไฟ จึงได้มีการจัดตั้ง “กองตำรวจรถไฟ” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2495 เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน และ พ.ศ.2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ดำเนินภารกิจดูแลความปลอดภัยของประชาชนในขบวนรถไฟและพื้นที่ของการรถไฟ สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
มีสถานีตำรวจรถไฟตั้งอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ สถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน สถานีตำรวจรถไฟหัวหิน สถานีตำรวจรถไฟหาดใหญ่ สถานีตำรวจรถไฟหนองคาย ฯลฯ
กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟฯ อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ทั้งนี้เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีผลให้กองบังคับการตำรวจรถไฟจะถูกยุบเลิก โดยข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจรถไฟจะได้รับการแต่งตั้งแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตามระหว่างนี้จะมีการจัดกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยบนขบวนรถไฟ และชานชาลา เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน