วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม เคยหลุดจากวันหยุดราชการของไทยไปช่วงหนึ่ง
วันปิยมหาราช เป็นวันที่หลายคนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่สวรรคตเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2453 ที่ทรงประกาศเลิกทาสและทรงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เป็นสากลทัดเทียมกับชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมมากขึ้น
เดิมทีวันปิยมหาราชนั้นเป็นวันทำบุญพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏชื่อในประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี (พ.ศ. 2456) ว่าเป็นวัน "ทำบุญพระบรมอัษฐิพระพุทธเจ้าหลวง"
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงออกประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี เมื่อปี 2468 ซึ่งเป็นปีที่ 1 ของรัชสมัยพระองค์ ให้วันที่ 23 ต.ค. เป็น "วันสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง"
อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พบว่าวันที่ 23 ต.ค. ไม่ได้เป็นวันหยุดราชการอีก โดยในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดวันหยุดราชการ เมื่อปี 2480 ในยุคที่ พลเอก พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏวันดังกล่าว และต่อมาในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศวันหยุดราชการอีก 2 ฉบับ คือปี 2482 และ 2483 ก็ไม่พบเช่นกัน
แต่เมื่อปี 2488 ในยุคหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ได้ประกาศให้วันที่ 23 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า วันปิยมหาราช และชื่อในภาษาอังกฤษคือ Chulalongkon Day