ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเห็นพ้องไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาตชนโลก
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเผยหลักฐานที่ชัดเจนว่าอุกกาบาต ขนาดยักษ์ที่พุ่งชนโลกบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก คือสาเหตุการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ในยุคครีเตเชียส-เทอร์เทียรี เมื่อประมาณ 65 ล้านปีที่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติจำนวน 41 คน เห็นพ้องต้องกันหลังจากร่วมกันวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และได้เสนอรายงานลงในวารสารวิทยาศาสตร์ โดยได้ปฏิเสธทฤษฎีอื่น ๆ เช่นการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุกกาบาตทำให้สิ่งมีชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งจากทุกชนิดบนโลกสูญพันธุ์ เช่น ไดโนเสาร์ สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ในทะเล และสิ่งมีชีวิตที่คล้ายนก และจากเหตุการณ์นั้นทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นมาครองโลกแทนไดโนเสาร์
ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติระบุว่า อุกกาบาตขนาด 10-15 กิโลเมตร ตกที่คาบสมุทรยูคาทาน พลังของการระเบิดเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นทีน้ำหนัก 100 ล้านล้านตัน หรือมากกว่าแรงระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิกว่า 1 พันล้านเท่า ซึ่งปรากฏร่องรอยหลุมขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 180 กิโลเมตรมาถึงปัจจุบัน การพุ่งชนคราวนั้นทำให้เศษซากของการพุ่งชนกระจายไปทั่วโลก เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงรวมถึงสึนามิ
ดร.แกเรธ คอลลินส์ หนึ่งในนักวิจัยจากอิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ความเร็วของอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกเร็วกว่าความเร็วของกระสุนปืน 20 เท่า ทำให้เกิดลูกไฟขนาดยักษ์เผาผลาญสิ่งมีชีวิตที่หาที่หลบไม่ทันโดยทันที นอกจากลูกไฟที่เผาผลาญสิ่งมีชีวิตแล้ว ตะปูดอกสุดท้ายที่ตอกโลงไดโนเสาร์ให้สูญพันธุ์อย่างราบคาบคือเศษซากการ ระเบิดที่พุ่งถึงชั้นบรรยากาศทำให้โลกมืดมิด แสงอาทิตย์ที่ส่องมาไม่ถึงทำให้อากาศโลกหนาวเย็น คร่าชีวิตสิ่งมีชีวิตอีกจำนวนมากที่รอดตายมาได้แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อมใหม่