ศาลสูงอินเดีย ไม่รับรอง "สมรสเพศเดียวกัน" อ้างเสียงแตก โบ้ยรัฐสภาออกกฎหมาย
ศาลฎีกาอินเดียมีมติไม่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ระบุ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงให้รัฐสภาเป็นคนตัดสินใจ เพราะศาลไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย
รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอินเดียที่มีจำนวนห้าคน ได้มีมติเอกฉันท์ ยกคำร้องเรื่องการสมรสระหว่างเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย และให้รัฐสภาเป็นผู้หารือในเรื่องดังกล่าว
คำตัดสินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังศาลใช้เวลาช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พิจารณาคำร้องสิบกว่าฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว และหลังจากมีคำสั่งว่ากฎหมายยุคอาณานิคมที่ห้ามเกย์ร่วมเพศกันนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญไปเมื่อปี 2018
รอยเตอร์รายงานว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อคำตัดสินดังกล่าว แต่พรรคชาตินิยม BJP ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เคยมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการสมรสเพศเดียวกัน โดยมองว่า “ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องครอบครัวของอินเดียเรื่องสามี ภรรยา และลูก”
ดี วาย. จันทราชูด ประธานผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่าการสมรสระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และผู้พิพากษาศาลสี่คนจากห้าคน ได้เขียนคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรแยกกัน ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนของกรณีการพิจารณาครั้งนี้
จันทราชูด กล่าวว่า “ศาลนี้ออกกฎหมายไม่ได้ ศาลทำได้แค่ตีความและให้ผลการปฏิบัติ” เขาปฏิเสธการอธิบายของรัฐบาล ที่ระบุว่าการเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องของคนเมืองหรือเรื่องของชนชั้นนำ
ศาลมีความเห็นให้รัฐสภาไปหารือเรื่องการสมรสเพศเดียวกันในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องข้อกังวลด้านสังคม อารมณ์ จิตวิทยา ไปจนถึงเรื่องการเข้าถึงการบริการต่าง ๆ ที่ยังเข้าถึงไม่ได้ เช่น การเปิดบัญชีธนาคารร่วมกันหรือเงินบำนาญ และแนะนำให้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมในการพิจารณาด้วย
จันทราชูดเป็นหนึ่งในสองผู้พิพากษาที่ยอมรับสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน ในขณะที่ผู้พิพากษาที่เหลืออีกสามคนไม่เห็นด้วย
รวินทรา พัท หนึ่งในผู้พิพากษาสามคนดังกล่าว ระบุว่า “การสมรสคือสถาบันทางสังคม สถานภาพการสมรสไม่ใช่สิ่งที่รัฐเป็นผู้ให้” และกล่าวด้วยว่า “แนวคิดเรื่องการสมรสไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน”
คำตัดสินของศาลสร้างความผิดหวังให้กับชุมชน LGBTQ ในอินเดีย โดยผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา ส่วนบางคนก็ปลอบใจกันและกัน
รอยเตอร์รายงานว่า ในทวีปเอเชียที่แนวคิดอนุรักษนิยมยังมีอิทธิพลในสังคมอยู่มาก มีเพียงไต้หวันและเนปาลเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน
นักกิจกรรมมองว่าการที่คนรักเพศเดียวกันยังแต่งงานกันไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะการที่ศาลอินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามการรักร่วมเพศเมื่อปี 2018 ก็น่าจะถือเป็นการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่เหตุใดพวกเขาจึงยังไม่สามารถมีสิทธิในการแต่งงานกันเหมือนกับคู่รักต่างเพศ