รู้หรือไม่? เกือบไม่มี "ขุนหลวงท้ายสระ" เปิดสาเหตุพระเจ้าเสือพิโรธ จะฆ่าลูกเพราะช้างตกหล่ม
ย้อนประวัติศาสตร์ ขุนหลวงท้ายสระ เกือบสิ้นพระชนม์ตั้งแต่เป็นวังหน้า พระราชบิดาคิดว่ากบฏ เพราะถมคูไม่แน่น-ช้างตกหล่ม
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งกรุงศรีอยุธยาและเป็นพระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2246-2261
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วโปรดให้สถาปนา เจ้าฟ้าเพชรขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนเจ้าฟ้าพรโปรด ให้เรียกว่าพระบัณฑูรน้อย ทั้งสองพระองค์ได้ช่วยราชการในแผ่นดินมาโดยลำดับ
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จล้อมช้างเถื่อนแถบเมืองนครสวรรค์ ระหว่าง ทางโปรดให้ตั้งค่ายหลวงที่ตำบลบ้านหูกวาง ในบริเวณนั้นมีบึงน้ำขนาดใหญ่ มีพระบรมราชโองการ ให้กรมพระราชวังบวรและพระบัณฑูรน้อยปรับถมบึงน้ำให้ราบเป็นทางเสด็จ เพื่อจะได้ไม่ต้องอ้อมไปไกล ทั้งสองพระองค์เกณฑ์ไพร่พลถมคูเสร็จภายในวันหนึ่ง
แต่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบนคูนั้น ช้างพระที่นั่งเหยียบหล่มถลำลงไป สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พิโรธมากคิดว่าพระราชโอรส ทั้ง 2 คิดการกบฏ ถึงขนาดยกพระแสงของ้าวจะฟันพระเศียรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่พระบัณฑูรน้อยทรงช่วยชีวิตพระเชษฐาด้วยการเอาพระแสงขอรับไว้
โดยพระเจ้าเสือโปรดให้จับลงอาญาทั้ง 2 พระองค์เช้าเย็น จนกว่าจะเสด็จคืนพระนคร พระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ให้ข้าหลวงรีบไปเฝ้า กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ และเป็นพระอัยกี (ย่า) ของเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร ให้ขึ้นมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ