นัดลงมติถอดถอน นพดล ปราสาทพระวิหาร12มี.ค.

นัดลงมติถอดถอน นพดล ปราสาทพระวิหาร12มี.ค.

นัดลงมติถอดถอน นพดล ปราสาทพระวิหาร12มี.ค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วุฒิสภา ให้ผู้กล่าวหา-ผู้ถูกกกล่าวหา ยื่นคำแถลงปิดคดีใน 9มี.ค. นัดลงมติถอดถอน นพดล กรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร 12มี.ค.

เมื่อเวลา 10.30 น. มีการประชุมวุฒิสภาเป็นพิเศษ มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 273 กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเป็นการพิจารณาประเด็นซักถามตามญัตติของส.ว.จำนวน 7 ญัตติ รวม 45 คำถาม แบ่งเป็นซักถาม ป.ป.ช.ผู้กล่าวหา 11 คำถาม ซักถามนายนพดล ผู้ถูกกล่าวหา 30 คำถาม และซักถามคู่กรณี 4 คำถาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำถามส่วนใหญ่ที่ถามต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา เป็นการถามถึงเหตุผลในการที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ซึ่งนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.ยืนยันว่าไม่มีอคติกับผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยกรรมการป.ป.ช.พิจารณาไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่เคยวินิจฉัยนอกสำนวน และการชี้มูลก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบหรือำไม่ชอบผู้ถูกกล่าวหา แต่อยู่ที่ความถูกต้อง

ส่วนประเด็นซักถามนายนพดลนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการดำเนินการในการลงนามในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งนายนพดล ชี้แจงว่า ก่อนการลงนามฯนั้น ได้มีการสอบถาม ความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ยืนยันว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมจะไม่เสียสิทธิเขตแดน และการลงนามก็เพื่อปกป้องพื้นที่ทับซ้อน ทำให้ยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนร่วมกับตัวปราสาทเขาพระวิหาร แม้ไม่มีแถลงการณ์ร่วมทางกัมพูชาก็ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว หากตนไม่ดำเนินการใดๆ หากมีการผนวกพื้นที่ทับซ้อนไปตนก็ต้องรับผิดชอบ จึงมีการประชุมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อน การลงนามนั้นก็ไม่ใช่การทำหนังสือสัญญา จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ตนก็แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตนก็แสดงสปิริตด้วยการลาออก เพราะไม่ได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ระบุไว้ แต่ไม่ได้จงใจทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190

"ผมยืนยันว่า ทุกอย่างที่ทำไปเพื่อปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้ทำเพื่อให้บุคคลใดได้สัมปทานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าน้ำมัน หรือแก๊ซ ผมทำโดยชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติเสียหายออกไป การดำเนินการทุกอย่างไม่ได้ทำตามอย่างอำเภอใจ" นายนพดล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมซักถามคู่กรณีเสร็จสิ้นใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง นายประสพสุข แจ้งว่า ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกกล่าวหา ขอยื่นคำแถลงปิดสำนวนคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะต้องส่งมาภายในวันที่ 9 มีนาคม และตนขอนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอนในวันที่ 12 มีนาคม เวลา 10.00 น. และสั่งปิดประชุมเวลา 13.00 น.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook