สาวใจสลาย รพ.ทำเอกสารสลับ เจาะน้ำคร่ำผิดคน สุดท้ายต้องสูญเสียลูกในครรภ์
สาวใจสลาย รพ.ทำเอกสารสลับ เจาะน้ำคร่ำผิดคน สุดท้ายต้องสูญเสียลูกในครรภ์ ทั้งที่ตอนแรกลูกปกติดี
(24 ต.ค.66) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นางมล อายุ 32 ปี (นามสมมุติ) ได้เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ขอความเป็นธรรมกรณี น.ส.มล ตั้งครรภ์และไปฝากท้องที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ รพ. ส่งเอกสารผลการตรวจเลือดของคนไข้ให้แพทย์สลับคน แพทย์จึงเจาะน้ำคร่ำตรวจวินิจฉัยดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์แม่ผิดคน หลังเอกสารผลเลือดที่มีความเสี่ยงเป็นชื่อผู้หญิงอีกคน
นางมลโชคร้ายซ้ำสองหลังจากเจาะน้ำคร่ำเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำรั่ว ต่อมาเด็กเสียชีวิต ต้องยุติการตั้งครรภ์ ทั้งๆ ที่ผลตรวจเลือดนางมล เป็นปกติ รพ.ทำงานผิดพลาด เป็นเหตุให้ต้องเสียลูก ครอบครัวต้องการให้ รพ.รับผิดชอบ ขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ตรวจสอบอย่าให้เกิดขึ้นกับครอบครัวใครอีก
น.ส.มล กล่าวว่า ตนเป็นพนักงานบัญชีอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่สามีก็เป็นพนักงานด้านไอทีบริษัทเดียวกัน แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปีมีลูกสาวคนโตวัย 1 ขวบ 5 เดือน ตนกับสามีตั้งใจจะมีลูก 2 คน เป็นครอบครัวที่อบอุ่น กระทั่งช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาตนก็ได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 สมใจ และวันที่ 16 ส.ค. ได้ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านพุทธมณฑล พบว่าลูกในครรภ์มีอายุประมาณ 10 สัปดาห์
จากนั้นวันที่ 21 ก.ย. แพทย์นัดไปพบเพื่อเจาะเลือด วันที่ 28 ก.ย. ทราบผลเลือดว่าเด็กในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ซินโดรม แพทย์จึงได้นัดวันที่ 3 ต.ค. เพื่อเจาะน้ำคร่ำตรวจโครโมโซมวินิจฉัยดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ ตอนนั้นตนเองก็สงสัยว่าตนอายุเพียง 32 ปี และท้องคลอดลูกคนแรกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อีกทั้งเกรงว่าการเจาะน้ำคร่ำอาจจะมีความเสี่ยงต่อลูกในครรภ์
วันที่ 29 ก.ย. จึงได้เลือกที่จะไปตรวจ NIPS (Non Invasive Prenatal Screening) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของลูกในครรภ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อแม่และลูก โดยแพทย์จะเจาะเลือดของแม่ไปตรวจในห้องแลป และพ่อแม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยจะทราบผลในวันที่ 6 ต.ค. ระหว่างที่รอผลตรวจ NIPS วันที่ 3 ต.ค. ตนก็ได้ไปที่โรงพยาบาลตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้มาพบแพทย์เจาะน้ำคร่ำ เจ้าหน้าที่ก็ได้ให้บัตรคิวแนบกับสมุดบันทึกแม่และเด็กรอพบแพทย์ เมื่อถึงคิวเจ้าหน้าที่ก็เรียกตามหมายเลขบัตรคิวที่ถือ แต่ไม่ได้เรียกชื่อ-นามสกุลแต่อย่างใด เมื่อพบแพทย์ตนก็บอกว่าได้ไปตรวจ NIPS มาแล้วแต่ยังต้องรอผลในวันที่ 6 ต.ค. จะมาขอเลื่อนนัดเจาะน้ำคร่ำออกไปก่อน แต่แพทย์ได้อ่านผลตรวจเลือดบอกว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงควรจะรีบเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม หากช้ากว่านี้จะไม่เป็นผลดี ตนจึงต้องยอมให้แพทย์เจาะตรวจน้ำคร่ำในวันนั้น
หลังตรวจเสร็จก็เดินทางกลับบ้าน วันที่ 4 ต.ค. ขณะที่นั่งดูสมุดบันทึกแม่และเด็กพบเอกสารผลเลือดคัดกรองดาวน์ซินโดรม แต่ไม่ใช่เป็นชื่อของตน กลับเป็นชื่อของ นางเอ (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี ตนจึงมั่นใจว่าแพทย์ได้เจาะน้ำคร่ำผิดคนแล้ว เพราะเอกสารผลเลือดที่ระบุเด็กมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมที่แนบมากับสมุดบันทึกแม่และเด็กเป็นชื่อผู้หญิงคนอื่น ต่อมาวันที่ 5 ต.ค. ตนจึงเอาเอกสารดังกล่าวไปสอบถามที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็ทำเหมือนไม่มีอะไรแจ้งแค่ว่าเอกสารผิดก่อนจะนำไปขยำทิ้ง แล้วปรินต์ผลเลือดใบใหม่ที่เป็นชื่อของตนมาแนบกับสมุดบันทึกแม่และเด็ก ซึ่งเมื่อตนดูผลเลือดแล้วก็ไม่ได้ระบุว่าทารกมีความเสี่ยงดาวน์ซินโดรมแต่อย่างใด
กระทั่งวันที่ 6 ต.ค. ผลการตรวจ NIPS ก็แจ้งมาว่า โครโมโซมของทารกในครรภ์ปกติทุกอย่าง เมื่อรู้ความจริงแทบช็อก เพราะตนได้ถูกเจาะน้ำคร่ำไปแล้วหากเกิดอะไรขึ้นกับลูกจะทำอย่างไร เพราะหลังจากเจาะตรวจน้ำคร่ำเมื่อวันที่ 3 ต.ค. จนถึงวันที่ 6 ต.ค. ตนก็ยังมีน้ำคร่ำไหลออกมาเรื่อยๆ จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลอีกแห่งอยู่แถวเจริญกรุง แพทย์ตรวจร่างกายพบว่า ถุงน้ำคร่ำรั่ว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนที่เจาะน้ำคร่ำ 1 ใน 350 คน จึงให้นอนแอดมิตดูอาการ พร้อมให้ยาฆ่าเชื้อ และอัลตร้าซาว์ดดูเด็กในครรภ์
ระหว่างนอนดูอาการ 3 วัน พบว่าเด็กในครรภ์อาการแย่ลงเรื่อยๆ วันที่ 10 ต.ค. แพทย์จึงให้ตัดสินใจและทำการยุติการตั้งครรภ์ลง ในวันที่ 11 ต.ค. ตนจึงได้ออกจากโรงพยาบาลย่านเจริญกรุง กลับมาพักที่บ้าน แต่ยังทำใจไม่ได้ที่ต้องสูญเสียลูกไปเพราะความผิดพลาดจากเอกสารใบเดียว ถ้าหากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งแรกมีความละเอียดรอบคอบคงไม่เอาผลเลือดคัดกรองดาวน์ซินโดรมที่มีความเสี่ยงของคนอื่นมาใส่เป็นของตน และตนคงไม่ต้องเจาะถุงน้ำคร่ำจนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียลูกไป
ต่อมาวันที่ 12 ต.ค. ตนได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่โรงพยาบาล วันที่ 17 ต.ค. ทางโรงพยาบาลให้ตนไปพบเจ้าหน้าที่และนิติกร แต่ก็เป็นเพียงการสอบถามรายละเอียดเท่านั้นจนถึงตอนนี้ทางโรงพยาบาลก็ยังไม่มีคำขอโทษ หรือแจ้งว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ตนกับสามีจึงตัดสินใจเข้าร้องทุกข์ขอมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยให้ความเป็นธรรมด้วย
นางปวีณา กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับ รพ.ใหญ่ที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียลูกน้อยในครรภ์ของครอบครัวนางมลด้วย ตามที่นางมลเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อผิดพลาดของ รพ.น่าจะเกิดมาจากการที่ รพ.มีนโยบายไม่เรียกชื่อคนไข้ เรียกแต่หมายเลข และทางรพ.ได้สลับหมายเลขคนไข้ ทำให้ใบตรวจเลือดคนไข้สลับกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้นางมลสูญเสียลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เศร้าอย่างยิ่ง และต้องไม่ให้เกิดเหตุขึ้นกับครอบครัวใครอีกต่อไป เนื่องจาก รพ.แห่งนี้สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นางปวีณา จะประสานยังท่าน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รพ.ต้องรับผิดชอบกับครอบครัวคนไข้รายนี้ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไป โดยนางปวีณา จะติดตามผลการดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป