กำหนด 40 อาชีพ "สงวนสำหรับคนไทย" ห้ามชาวต่างชาติทำ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

กำหนด 40 อาชีพ "สงวนสำหรับคนไทย" ห้ามชาวต่างชาติทำ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

กำหนด 40 อาชีพ "สงวนสำหรับคนไทย" ห้ามชาวต่างชาติทำ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีประเด็นเรื่อง “อาชีพการงาน” ของคนไทย ก็จะกลายเป็นดราม่าร้อนสะเทือนโซเชียลมีเดียไปเสียทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง “ช่างตัดผมเกาหลี” ที่ชาวเอ็กซ์มักชอบตั้งคำถามว่าเป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติทำได้จริงหรือ จนต้องหยิบยกเรื่อง “อาชีพสงวน” กลับมาพูดคุยถกเถียงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มีประกาศเรื่อง “กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ” ซึ่งประกอบด้วย 40 อาชีพ แบ่งออกเป็น 4 บัญชี ซึ่งวันนี้ Sanook นำรายการอาชีพสงวนที่รัฐบาลกำหนดไว้สำหรับคนไทยเท่านั้นมาฝากกัน

อาชีพสงวนสำหรับคนไทย

การกำหนดอาชีพสงวนล่าสุด ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ได้ระบุอาชีพที่สงวนและเงื่อนไขไว้ทั้งหมด 40 อาชีพ โดยแบ่งออกเป็น 4 บัญชี ดังนี้ 

บัญชี 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่

  1. งานแกะสลักไม้
  2. งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (forklift)
  3. งานขายทอดตลาด
  4. งานเจียระไนเพชร/พลอย
  5. งานตัดผม/เสริมสวย
  6. งานทอผ้าด้วยมือ
  7. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย เป็นต้น
  8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ
  9. งานทำเครื่องเขิน
  10. งานทำเครื่องดนตรีไทย
  11. งานทำเครื่องถม
  12. งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก
  13. งานทำเครื่องลงหิน
  14. งานทำตุ๊กตาไทย
  15. งานทำบาตรพระ
  16. งานทำผ้าไหมด้วยมือ
  17. งานทำพระพุทธรูป
  18. งานทำร่วมกระดาษ/ผ้า
  19. งานนายหน้า/ตัวแทน
  20. งานนวดไทย
  21. งานมวนบุหรี่
  22. งานมัคคุเทศก์
  23. งานเร่ขายสินค้า
  24. งานเรียงอักษร
  25. งานสาวบิดเกลียวไหม
  26. งานเลขานุการ
  27. งานบริการทางกฎหมาย

iStock

บัญชี 2 งานที่ให้คนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยทำเท่านั้น หรือคนต่างด้าวสามารถทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 อาชีพ ได้แก่

  1. วิชาชีพบัญชี
  2. วิชาชีพวิศวกรรม
  3. วิชาชีพสภาปัตยกรรม

บัญชี 3 งานฝีมือหรือกึ่งฝีมือที่ให้คนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข หรือให้คนต่างด้าวทำงานได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่

  1. งานกสิกรรม
  2. งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร
  3. งานทำที่นอน
  4. งานทำมีด
  5. งานทำรองเท้า
  6. งานทำหมวก
  7. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
  8. งานปั้นเครื่องดินเผา

iStock

บัญชี 4 งานฝีมือที่ให้คนต่างด้าวทำเฉพาะงานที่มีนายจ้างและให้เข้ามาไทยตาม MOU หรือเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข โดยจะทำงานนั้นได้เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าในที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จำนวน 2 งาน ได้แก่

  1. งานกรรมกร
  2. งานขายของหน้าร้าน 

หากฝ่าฝืนจะเป็นอย่างไร

หากพบว่าแรงงานต่างด้าวทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับ 5,000 - 50,000 บาท และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้างมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากทำผิดซ้ำ จะมีโทษปรับ 50,000 - 200,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และขึ้นบัญชีห้ามจ้างแรงงานต่างด้้าวอีก 3 ปี

หากพบเห็นการจ้างงานแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร 02-354-1729 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมจัดหางาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook