ถนนสายการเมืองของ "อุ๊งอิ๊ง" จากโดนกล่าวหาโกงข้อสอบจุฬาฯ สู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ถนนสายการเมืองของ "อุ๊งอิ๊ง" จากโดนกล่าวหาโกงข้อสอบจุฬาฯ สู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ถนนสายการเมืองของ "อุ๊งอิ๊ง" จากโดนกล่าวหาโกงข้อสอบจุฬาฯ สู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อของ “แพทองธาร ชินวัตร” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” กลายเป็นชื่อที่ประชาชนคนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคนทั่วไปจะเห็นภาพของอุ๊งอิ๊งกับท้องใหญ่ๆ ของเธอ เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อหาเสียงช่วยพรรคเพื่อไทย จนเธอกลายเป็นที่รักของใครหลายคน พร้อมกับเป็นผู้จุดประกาย “กระแสมินต์ช็อก” ให้โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง 

เดินทางมาถึงช่วงเวลาหลังเลือกตั้ง ก็กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งภายในพรรคเพื่อไทย ทำให้ชื่อของแพทองธารก็ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเธอเข้ารับตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเธอยังอายุน้อยและไร้ประสบการณ์บนเส้นทางสายการเมือง แต่แท้จริงแล้วเธอคนนี้ผ่านสมรภูมิการเมืองไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี

Sanook เปิดเส้นทางการเมืองของแพทองธาร ตั้งแต่วันที่เธอถูกกล่าวหาว่าโกงข้อสอบเอ็นทรานซ์ สู่การเป็น "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" คนใหม่

ลูกสาวคนสุดท้องของ “ทักษิณ ชินวัตร”

แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง (อุ๊งอิ๊งค์) เป็นลูกสาวคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ 

Getty Images

เพราะเป็นลูกสาวของนายกรัฐมนตรี ทำให้แพทองธารมีชื่อปรากฏอยู่ในพื้นที่สื่อ โดยในช่วงปี พ.ศ.2547 ทักษิณอยู่ในช่วงขาขึ้นทางการเมือง ก็ได้เดินทางไปซื้ออาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาสยามสแควร์ ซึ่งแพทองธารในวัย 18 ปีไปฝึกงานหาประสบการณ์อยู่ ทำให้สปอตไลท์สาดส่องมาที่ลูกสาวคนเล็กของนายกทักษิณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เแพทองธารโกงข้อสอบเข้าจุฬาฯ

ดราม่าหนักที่แพทองธารต้องเผชิญ เริ่มต้นเมื่อเธอต้องการสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคะแนนของเธอในตอนนั้นยังไม่ผ่านเงื่อนไขของทางคณะ อย่างไรก็ตาม ทางคณะตัดสินใจเปลี่ยนกฎบางอย่าง จึงทำให้เกิดข้อครหาว่าทางคณะจงใจช่วยเหลือแพทองธาร

ขณะเดียวกันคะแนนสอบเอ็นทรานซ์ของแพทองธาร ที่ในรอบที่ 1 เธอทำคะแนนได้ 184.25 คะแนน กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 286.5 คะแนน ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน ทำให้คนตั้งข้อสงสัยว่าการเพิ่มคะแนนของตัวเองให้ได้มากกว่า 100 คะแนนในช่วงเวลาอันนั้นสามารถทำได้จริงหรือ

Getty Images

แพทองธารถูกกล่าวหาว่าเธอ “ทุจริต” ในการสอบ โดยใช้อำนาจของพ่อ จนต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่สุดท้ายก็หาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีข้อสอบรั่วจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แพทองธารก็ไม่ได้เข้าคณะนิเทศศาสตร์อย่างที่หวัง เนื่องจากคณะยืนยันให้เงื่อนไขเดิม ทำให้เธอเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แทน

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาโจมตีแพทองธารอีกครั้ง ในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งเธอได้ออกมาชี้แจงประเด็นดราม่าดังกล่าว ระบุว่าเธออ่านหนังสือและเรียนพิเศษอย่างหนักเหมือนกับเด็กนักเรียนคนอื่นๆ

กระแสต่อต้านพ่อลามมาหาลูก

ในช่วงการเป็นนิสิตจุฬาฯ ของแพทองธาร คาบเกี่ยวกับช่วงที่มีกระแสต่อต้านการทำงานของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งต่อมากลายเป็น “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่มีนักวิชาการหลายคนออกมาโจมตีรัฐบาล และลุกลามมาถึงแพทองธาร จนถึงขั้นมีการพูดคุยเรื่องการลาออกจากมหาวิทยาลัย แต่เธอยืนยันว่าจะเรียนต่อ กระทั่งเกิดรัฐประหาร ปี 2549 ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนในตระกูลชินวัตร

Getty Images

แพทองธารเป็นคนเดียวที่ตัดสินใจอยู่ประเทศไทย และเรียนจนจบปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เธอเป็นคนเดียวของตระกูลที่ไม่มีคดีเกี่ยวกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เหมือนกับพี่ชายและพี่สาวของเธอ 

แรงกดดันทางการเมืองที่มีต่อแพทองธารค่อยๆ เบาบางลง เมื่อมีการจัดการเลือกตั้ง ปี 2550 ซึ่งเธอได้เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ก่อนจะกลับมารับช่วงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว และแต่งงานในปี 2562 

แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย

ก้าวสำคัญทางการเมืองของแพทองธาร คือการมีชื่อเป็น 1 ใน 3 “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับเศรษฐา ทวีสิน และชัยเกษม นิติสิริ ทำให้ประชาชนเริ่มคาดหวังว่าจะได้เห็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แพทองธารซึ่งกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ก็ได้เดินทางขึ้นเหนือลงใต้พบปะพี่น้องประชาชน และดูเหมือนว่าคะแนนความนิยมของตัวเธอก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น 

Getty Images

แต่สุดท้าย เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของไทยก็ตกเป็นของเศรษฐา ทวีสิน ขณะที่แพทองธารเข้ารับตำแหน่ง “รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” 

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 พรรคเพื่อไทยก็มีมติเลือกแพทองธารเป็น "หัวหน้าพรรค" คนใหม่ แทน น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่ลาออกไป ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของพรรคเพื่อไทยที่ได้คนรุ่นใหม่มานำทัพ และหลังจากนี้ก็ต้องรอดูผลงานของแพทองธารในบทบาทหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ของประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook