รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยมี "เรือดำน้ำ" มาแล้ว 4 ลำ

รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยมี "เรือดำน้ำ" มาแล้ว 4 ลำ

รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยมี "เรือดำน้ำ" มาแล้ว 4 ลำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าประเทศไทยได้ทำการซื้อ “เรือดำน้ำ” จากประเทศจีน แต่กลับเป็นเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์ จนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพเรืออย่างรุนแรง ล่าสุด สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ออกมายอมรับว่าโครงการซื้อเรือดำน้ำอาจจะต้องพับเก็บไป และประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นซื้อ “เรือฟริเกต” ของจีนมาแทน

ขณะที่สังคมกำลังถกเถียงเรื่องเรือดำน้ำที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ Sanook พาทุกคนย้อนกลับไปดูเรือดำน้ำ 4 ลำแรกของกองทัพเรือไทย ที่ปลดประจำการไปแล้วหลายสิบปี

อยากได้ “เรือดำน้ำ” ตั้งแต่สมัย ร.6

“เรือดำน้ำ” อยู่ในแนวความคิดของกองทัพเรือไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 โดยมีโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือขึ้น เพื่อปรับปรุงและยกระดับกำลังรบทางเรือให้เข้มแข็ง พร้อมกับทีความทันสมัยขึ้น ซึ่งเรือดำน้ำก็เป็นกำลังรบที่ทรงอานุภาพทางทะเลมากที่สุด เนื่องจากสามารถกำบังตัวหรือหลบหนีได้ด้วยการดำน้ำ ทั้งยังสามารถเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่เรือผิวน้ำทำไม่ได้ 

ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453 ถูกจัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิจ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งได้นำทูลเกล้าถวายฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรายงานได้เสนอความต้องการเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำ อย่างไรก็ตาม เรือดำน้ำในเวลานั้นเป็นอาวุธที่นาวีของประเทศมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้อยู่ และเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่เอื้ออำนวยให้กองทัพเรือจัดซื้อหรือสร้างเรือดำน้ำมาไว้ใช้ในราชการได้

รัฐสภาอนุมัติซื้อเรือดำน้ำ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงปลายปี พ.ศ.2478 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 ให้กองทัพจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จภายในเวลา 5 ปี ใช้งบประมาณ 18 ล้านบาท 

ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

บริษัทมิตซูบิชิจากประเทศญี่ปุ่น เสนอสร้างเรือดำน้ำขนาด 370 ตัน มีปืนใหญ่และลูกปืน มีท่อตอร์ปิโด ไม่มีลูกตอร์ปิโด เสนอสร้าง 4 ลำ ราคา 820,000 บาท กองทัพเรือจึงตกลงเลือกบริษัทมิตซูบิชิ ซึ่งถือเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นเรือดำน้ำชนิดรักษาชายฝั่งทะเลเท่านั้น

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับพระราชทานชื่อ ดังต่อไปนี้

  • เรือหลวงมัจฉานุ หมายเลข 1
  • เรือหลวงวิรุณ หมายเลข 2
  • เรือหลวงสินสมุทร หมายเลข 3
  • เรือหลวงพลายชุมพล หมายเลข 4

เรือหลวงมัจฉานุและเรือหลวงวิรุณสร้างเสร็จสมบูรณ์ก่อน ทางญี่ปุ่นจึงได้ส่งมอบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ให้แก่กองทัพเรือไทย ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 ซึ่งกองทัพเรือก็ได้ถือเอาวันที่ 4 กันยายนของทุกปี เป็น “วันเรือดำน้ำไทย” 

ปลดประจำการหลังใช้งานได้ 12 ปี

กองทัพเรือส่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรและทหารชั้นประทวนไปศึกษาวิชาเรือดำน้ำที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะให้ประจำการที่เรือทั้ง 4 ลำ ลำละ 32 คน จากนั้นก็ฝึกซ้อมเป็นประจำ จนเกิดสงครามอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ.2484 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำก็ได้ออกลาดตระเวนใกล้กับฐานทัพเรือฝรั่งเศส ต่อมาช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ทำให้กรุงเทพฯ ไม่มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ผู้จัดการไฟฟ้าจึงขอร้องห้กองทัพเรือมาช่วย เรือหลวงมัจฉานุและเรือหลวงวิรุณ จึงเทียบท่าบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) เพื่อทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตก 

ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำมีสภาพทรุดโทรม ขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ซ่อมแซม สั่งจากบริษัทมิตซูบิชิก็ไม่ได้เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม กองทัพเรือหาทางซ่อมแซมหลายปีก็ไม่สำเร็จ เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ปี พ.ศ.2494 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งยุบเลิกหมวดเรือดำน้ำ 

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เรือดำน้ำของไทยทั้ง 4 ลำ ก็ถูกปลดระวางประจำการ รวมเวลารับใช้กองทัพเรือ 12 ปี ซึ่งเรือดำน้ำทั้งหมดจอดเทียบติดกันในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลานาน ก่อนจะถูกขายให้บริษัทปูนซีเมนต์ คงเหลือไว้แต่หอเรือดำน้ำและอาวุธบางชิ้น

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยมี "เรือดำน้ำ" มาแล้ว 4 ลำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook