หมอเฉลยเอง ภาพไวรัลผู้ป่วยนอนหลังแอ่น โรคร้ายจากเรื่องใกล้ตัว ตายทรมานที่สุดในโลก

หมอเฉลยเอง ภาพไวรัลผู้ป่วยนอนหลังแอ่น โรคร้ายจากเรื่องใกล้ตัว ตายทรมานที่สุดในโลก

หมอเฉลยเอง ภาพไวรัลผู้ป่วยนอนหลังแอ่น โรคร้ายจากเรื่องใกล้ตัว ตายทรมานที่สุดในโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไขข้อสงสัยภาพไวรัล คนไข้นอนเกร็งแอ่นหลังทำสะพานโค้ง ที่แท้เป็นผลจากพิษบาดทะยัก ทรมานจนแทบร้องขอความตาย หมอเตือนเป็นแผลอย่าลืมฉีดยา

จากกรณีผู้ใช้งานบัญชี @IhabFathiSulima เผยแพร่ภาพผู้ป่วยชายบนเตียงคนไข้ นอนแอ่นหลังคล้ายสะพานโค้ง จนกลายเป็นไวรัลที่ชาวเน็ตให้ความสนใจกันทั่วโลก เพราะท่านอนในลักษณะที่ผิดแปลกไปจากปกติ มีอาการเกร็งจนน่ากลัว

ต่อมาทางเพจ Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ภาพดังกล่าวคือผู้ป่วยที่กำลังเสียชีวิตด้วยโรคบาดทะยัก ถูกวาดขึ้นในปี 1809 โดยแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วย และนี่ก็คือท่าที่เรียกว่า ออพิสโตโธนัส หรือ Opistothonos ซึ่งเป็นภาษาแพทย์ที่แปลว่า "หลังแอ่น"

อาการและความรุนแรงของผู้ติดเชื้อบาดทะยักนั้น ต่อให้หมอสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ แต่บางทีคนไข้ยังอาจต้องการที่จะตายจากไป เพราะการติดเชื้อและเสียชีวิตด้วยโรคบาดทะยัก ถือได้ว่าเป็นวิธีการเสียชีวิตที่ทรมานที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

  • ทำไมผู้ป่วยถึงมีท่าทางเช่นนั้น?

โดยธรรมชาติแล้ว เวลาที่มนุษย์เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นตอนเดิน วิ่ง หรือทำงาน กล้ามเนื้อจะต้องทำหน้าที่ "หดตัว" ซึ่งภายหลังจากนั้นต้องมีการปล่อยสารสื่อประสาทเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้น "คลายตัว" กลับสู่สภาพเดิม แต่เมื่อพิษบาดทะยักเข้าไปทำในร่างกาย มันจะเข้าไปยับยั้งการปลดปล่อยสารสื่อประสาทเหล่านั้น

เมื่อเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อหลังที่มีความเเข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้อง ก็จะฉุดดึงให้หลังของผู้ป่วยบิดงออย่างทรมาน กล้ามเนื้อต้นขาก็จะหดรัดตัวจนแทบจะหักกระดูกต้นขา ซึ่งเป็นกระดูกที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย อย่างไรก็ตาม พิษบาดทะยักไม่ได้ส่งผลต่อสมองเลย ดังนั้น ผู้ป่วยจะตื่นและมีความรู้สึกตัวอย่างเต็มที่ รับรู้ถึงความปวดทรมานนั้นไปแบบเต็มๆ

หากนึกภาพไม่ออก ลองจินตนาการว่าเกิดเหน็บตะคริวที่กล้ามเนื้อทุกมัดของ และมันหดตัวอยู่อย่างนั้น 24 ชั่วโมง และคูณความเจ็บปวดไปอีก 10 เท่า นั่นคือสิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องพบเจอ ดังนั้น สุดท้ายถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อกระบังลมก็จะหดตัวค้าง แล้วทำให้ไม่สามารถหายใจได้อีกต่อไป ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่ปลดปล่อยผู้ป่วยจากความทรมาน

  • ป้องกันดีกว่ารักษา

เชื้อบาดทะยักนั้นชอบอยู่ตามดินและมูลสัตว์ต่างๆ บาดแผลสกปรกที่เปื้อนดินจึงถือว่าเสี่ยง โดยแผลยิ่งลึกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น เพราะเชื้อบาดทะยักจะชอบเติบโตในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน แผลตื้นๆ ที่มีออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่า ในขณะที่แผลลึกๆ โดยเฉพาะโดนทิ่มแทง เช่น ของมีคม หรือโดนสัตว์กัด มักเกิดพื้นที่ปิดภายในทำให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อได้

ดังนั้น เมื่อมีบาดแผลใดๆ ก็ตาม เบื้องต้นควรล้างแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อนานๆ (10-15นาที) และถ้าแผลมีขนาดใหญ่ ลึก หรือสกปรก ก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้พิจารณาว่าควรฉีด "วัคซีนบาดทะยัก" หรือไม่

โดยปกติแล้ววัคซีน 1 ชุดจะมี 3 เข็ม ซึ่งหมอจะแบ่งฉีดภายใน 6 เดือน เมื่อฉีดครบแล้วสามารถอยู่ได้นานถึง 10 ปี โดยไม่ต้องกลับมาฉีดใหม่ ยกเว้นถ้าได้รับบาดแผลรอบใหม่ที่มีขนาดใหญ่ หรือสกปรกมากๆ ก็ควรฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม ถ้าฉีดครั้งล่าสุดมาเกิน 5 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรคบาดทะยักสามารถรักษาได้ แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิต 10-90% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความพร้อมของโรงพยาบาล และแม้สามารถรอดชีวิตได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักใช้เวลา 1-2 เดือน หรือมากกว่านั้น ไปกับการนอนในโรงพยาบาล ในสภาพที่ถูกใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยากล่อมประสาทอัดเข้าไปจนแทบจะอยู่ในสภาพไม่รู้สึกตัวหรือโคม่า เพื่อให้ไม่ต้องรู้สึกถึงความเจ็บป่วย แล้วหลังจากนั้นก็อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการทำกายภาพบำบัด ให้กับกล้ามเนื้อที่ถูกพิษบาดทะยักเล่นงานจนปั่นป่วน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ หมอเฉลยเอง ภาพไวรัลผู้ป่วยนอนหลังแอ่น โรคร้ายจากเรื่องใกล้ตัว ตายทรมานที่สุดในโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook