รู้จัก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ความทันสมัยในวังหลวง ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

รู้จัก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ความทันสมัยในวังหลวง ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

รู้จัก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ความทันสมัยในวังหลวง ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จัก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ โบราณสถานอยุธยา ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ กรมศิลปากร ระบุว่า พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ หรือที่เอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับเรียกว่าพระที่นั่งท้ายสระ บางแห่งเรียกว่าพระที่นั่งกลางน้ำ เพราะพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นที่กลางสระน้ำในเขตพระราชฐานชั้นในมีการขุดคูน้ำจากคลองท่อ ซึ่งอยู่นอกพระราชวังให้ไหลเข้าในสระ มีการจัดระบบไหลเวียนของน้ำทําให้น้ำในสระใสสะอาด ตั้งอยู่ในส่วนพระราชฐานชั้นในติดกําแพงพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันตก

เอกสารประวัติศาสตร์ไทยกล่าวตรงกันหลายฉบับว่าพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์สร้างขึ้นรัชกาลพระเพทราชา แต่บันทึกของชาวต่างชาติ ซึ่งระบุว่าได้เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระที่นั่งกลางน้ำในเขตพระราชฐานชั้นใน อีกทั้งมีการบรรยายลักษณะสิ่งก่อสร้างรายละเอียดต่าง ๆ ของพระที่นั่ง ตลอดจนบรรยากาศต่าง ๆ ตรงกับร่องรอยโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ จึงควรเชื่อได้ว่าพระที่นั่งองค์นี้มีอยู่แล้วในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และคงใช้เป็นที่ประทับ ทรงต้อนรับแขกเมือง และในรัชสมัยต่อมาก็ยังใช้เป็นที่ประทับจนถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งในรัชกาลนี้กล่าวว่า มีการซ่อมแซมพระที่นั่งครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งด้วย

พระมหากษัตริย์ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา โปรดฯ ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับพักผ่อน และว่าราชการ ชาวต่างชาติบรรยายถึงความงดงามและบรรยากาศที่สุขสบายของพระที่นั่งองค์นี้ รายรอบพระที่นั่งยังมีพระตําหนักและอาคารขนาดเล็กสําหรับทรงใช้ประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ กลางสระด้านเหนือมีพระตําหนักสําหรับพระสงฆ์ถวายเทศน์มหาชาติ กลางสระด้านตะวันออกมีพระที่นั่งไม่มีหลังคาสําหรับทรงประทับดูดาว 

ด้านทิศใต้เป็นพระที่นั่งสําหรับประทับโปรยข้าวตอกเลี้ยงปลาในสระ ด้านทิศตะวันตกเป็นอ่างน้ำที่ตกแต่งสวยงาม เรียกว่าอ่างแก้ว มีการสร้างภูเขาและน้ำตกจําลอง ตกแต่งด้วยแผ่นหินและปะการังจากทะเล คงได้แบบอย่างตามความนิยมของพระที่นั่ง และอุทยานของราชสํานักชาติตะวันตก

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ตั้งอยู่ใกล้ส่วนของพระราชฐานชั้นใน คือเป็นที่ประทับส่วนพระองค์และของสตรีฝ่ายใน แต่ในระยะหลังเอกสารประวัติศาสตร์กล่าวว่ามีการปรับการใช้พื้นที่พระราชวังในส่วนนี้ให้เป็นส่วนหน้าว่าราชการรับกับข้อมูลประวัติศาสตร์ และร่องรอยโบราณคดีที่เห็นว่ามีอาคารหรือพระที่นั่งขนาดเล็กอื่น ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้น เช่น พระที่นั่งทรงปืน ก็คงตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันนี้

พระที่นั่งมีผังจัตุรมุข อาจปูพื้นด้วยไม้ บันไดทางขึ้นลงที่มุขหน้าและมุขหลัง เครื่องยอดพระที่นั่งสันนิษฐานว่าเป็นทรงปราสาทยอดเดียว มีร่องรอยอ่างแก้ว และยังมีหลักฐานเกี่ยวกับการจัดน้ำประปา และระบบชลประทานที่ทันสมัยเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ส่วนอาคาร สิ่งก่อสร้างที่กล่าวว่าสร้างอยู่กลางสระ ไม่ปรากฏซากเหลืออยู่

หลักฐานสำคัญอย่าง "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง" บรรยายถึงพระที่นั่ง บรรยงค์รัตนาสน์ ไว้ว่า

อนึ่งพระที่นั่งบัญญงครัตนาศนมหาปราสาทนั้น เปนยอดมณฑปยอดเดียว มีมุขโถง ยาวออกมาจากมุขใหญ่ทั้งสี่ด่าน มุขโถงทั้งสี่ทิศนั้น มีพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกตั้งในมุขโถงทั้งสี่มีเกย น่ามุขโถงมีบันใด นาคราช ข้างเกยทั้งสี่เกย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชาลาพระมหาปราสาท แล้วมีสระล้อมรอบกำแพงแก้วชาลาพระมหาปราสาททั้งสี่ด้าน สระกว้างด้านละ ๖ วา ในสระระหว่างมุขโถงมุมพระมหาปราสาท ด้านเหนือนั้นมีพระตำหนักปลูกปักเสาลงในสระด้านเหนือหลังหนึ่งห้าห้อง ฝากระดานเซียนลายรดน้ำทองคำเปลวพื้นทารักมีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น มีพระบัญชรลูกกรงเหลก ระเบียงชานเฉลียงรอบนั้นมีลูกมะหวดกลึงล้อมรอบ มีตะพานลูกกรงค่ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระตำหนักๆ นี้เปนที่มีเทศนาพระมหาชาติคำหลวงทุกปีมิได้ขาด ในสระหว่างมุขโถงด้านใต้นั้น ปลูกพระที่นั่งปรายเข้าตอกหลังหนึ่ง เสาลงในสระหลังคามีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น ฝาไม่มี มีแต่ลูกกรงมะหวดรอบพระเฉลียง เสารายทารักเซียนทองคำเปลวลายทรงเข้าบิณฑ์มีกาพพรหมศรกริมวินต้นเสาปลายเสา มีตะพานลูกกรงข้ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระที่นั่งปรายเข้าตอก พระที่นั่งปรายเข้าตอกนี้ สำหรับเสดจทรงประทับโปรยข้าวตอก พระราชทานปลาหน้าคนแลปลากะโห้ ปลาตะเพียนทองแลปลาต่างๆ ในท้องสระ ในระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันออกนั้น ปลูกเปนพระที่นั่งทอดพระเนตรดาวเสาลงในท้องสระ ไม่มีหลังคา มีแต่พื้นแลลูกกรมมะหวดรอบ มีตะพานข้ามสระออกมาจากมุมมาพระมหาปราสาท ถึงพระที่นั่งทรงดาวๆ นี้สำหรับทอดพระเนตรดาว แลทอดพระเนตรสุริยุปปราคาแลจันทรุปราคา ชีพ่อพรหมณทำพิธีถวายน้ำกรดน้ำสังข์ในวันสุริย จันทร } เมื่อโมกขบริสุทธิบนพระที่นั่งทรงดาวทุกคราวไป

ในท้องสระระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันตกนั้น ปลูกเปนตะพานพระฉนวน มีหลังคาร่มตะพานข้ามออกมาจากพระมหาปราสาท เสาตะพานพระฉนวนนั้น ระยะห่างๆ แต่พอเรือน้อยพายลอดได้ใต้ตะพานๆ ข้ามมาขอบสระถึงพระที่นั่งทรงปืน เปนตึกใหญ่มีฉ้อฟ้าหางหงษมุขศร (ซ้อน) เปนท้องพระโรงสำหรับเสดจออกว่าราชการแผ่นดิน พระราชวงษาแลข้าทูลลอองธุลีพระบาทเข้าเฝ้าพระกรุณา ในพระที่นั่งทรงปืนท้ายสระ ขอบสระนั้นมีกำแพงแก้วสูง ๖ ศอก ล้อมรอบสระมีประตูสี่ด้านสระ ในกำแพงแก้วขอบสระข้างใน มีถนนเดินได้รอบสระ บนกำแพงแก้วรอบสระนั้นมีซุ้มโคมห่างคืบหนึ่งรอบกำแพงสระเปนซุ้มโคมพันหนึ่ง สำหรับตามไฟในการพิธีวิสาขะบูชากลางเดือนหกในท้องสระนั้นน้ำใสสอาดไหลเข้าออกได้ ไม่เน่าเหมนเปนที่น่าชมเชย

ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 มีพระนามลำลองที่ถูกเรียกขานว่า พระเจ้าท้ายสระ ซึ่งมาจากนามของ “พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์” ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับประจำพระองค์ อันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง จึงเป็นที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

พระเจ้าท้ายสระ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2221 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าเสือ กับพระอัครมเหสีพระนามว่าสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร และเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม

พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา (พระเพทราชา) ทรงครองราชย์และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และได้พระนามว่า “สุรินทกุมาร”

ต่อมาเมื่อพระเจ้าเสือสวรรคตในปี พ.ศ. 2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า “พระเจ้าภูมินทราชา” ในจารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์ออกพระนามว่า พระบาทพระศรีสรรเพชญสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว แต่ประชาชนมักออกพระนามว่า “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” ต่อมาทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชา (น้องชาย) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ รู้จัก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ความทันสมัยในวังหลวง ที่มาของพระนาม พระเจ้าท้ายสระ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook