ควบรวมทรู-ดีแทค วุ่น! ศาลปกครองสูงสุด สั่งชั้นต้นรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่ง ที่ลงวันที่ 4 ต.ค. ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค
"การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป" ศาลปกครองสูงสุดระบุ
วันที่ 8 มี.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว
แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มี.ค. 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด
"บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว"