ย้อนดู "กฎหมายยาเสพติดไทย" เมื่อตัวบทกำหนดให้จับทุกคน จนนักโทษล้นเรือนจำ
“ปัญหายาเสพติด” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ทุกรัฐบาลต้องการแก้ไขและปราบปราม ซึ่งประเทศไทยมี "กฎหมายยาเสพติด" ลงโทษผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดที่รุนแรง แต่ก็ดูเหมือนปัญหายาเสพติดจะไม่ได้ลดน้อยลงไป ทั้งยังสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย และหนึ่งในนั้นคือ “นักโทษยาเสพติดล้นคุก”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 2566) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า มีการมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงในการกำหนดจำนวนการครอบครองยาเสพติด ซึ่งคาดว่าจะกำหนดให้กรณี 10 เม็ดขึ้นไปถืิอเป็นผู้ค้า แต่หากน้อยกว่า 10 เป็นถือเป็นผู้เสพ ซึ่งนำไปสู่การพูดคุยถกเถียงของชาวเน็ตในโลกโซเชียลถึงทิศทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังมุ่งหน้าไป และอาจเป็นช่องทางแก้ไขปัญหานักโทษยาเสพติดล้นคุก ที่ประเทศไทยเผชิญมาหลายสิบปี
Sanook พาไปดูกฎหมายไทยที่ว่าด้วยเรื่อง “ยาเสพติด” ฉบับปัจจุบัน และสถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่อาจจะมีมิติอื่นๆ ที่มากกว่าการเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า
สถิตินักโทษคดียาเสพติด (ล้นคุกไทย)
สถิติของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 217,966 คน ซึ่งถ้าเปรียบทียบกับจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 266,589 คนทั่วประเทศ เรือนจำในประเทศไทยมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง ร้อยละ 81.66 ซึ่งมีทั้งชาย หญิง วัยรุ่น และคนชรา แต่ข้อมูลของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในอาเซียน และกว่า 85 เปอร์เซ็นต์เข้าเรือนจำด้วยความผิดคดียาเสพติด
ปัญหาผู้ต้องหายาเสพติดล้นคุกก็ทำให้หลายภาคส่วนเริ่มเข้ามาแก้ไขและดูแลเรื่องกฎหมายยาเสพติด เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ พร้อมกับการเดินหน้าแก้ไขและปราบปรามปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 นับเป็นประมวลกฎหมายลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ที่ได้รวบรวมเอากฎหมายยาเสพติด ที่เดิมกระจายอยู่ในหลายฉบับ ให้มาอยู่รวมกันเป็นกฎหมายฉบับเดียว ประกอบด้วย 186 มาตรา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ได้แก่
- ภาค 1: การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด
- ภาค 2: การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
- ภาค 3: บทกำหนดโทษ
ซึ่งบทลงโทษผู้เสพยาเสพติดที่ปรากฏในกฎหมายฉบับนี้ ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้ทำผิดให้สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยเน้นปราบปรามผู้ค้าและขบวนการค้ายาเสพติด จากที่แต่เดิมกำหนดโทษที่รุนแรง ก็มีการปรับใหม่ให้โทษมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ก็ปรับจากจำคุก 6 เดือน - 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ด หรือ 375 มิลลิกรัม จากสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็แก้ไขใหม่ให้เป็นครอบครองไม่เกินจำนวนปริมาณที่กำหนด สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ
- ระบบพนักงานสอบสวนนำผู้เสพมาให้ศาลส่งตรวจ ก็เปลี่ยนเป็นผู้จับนำตัวผู้เสพที่สมัครใจส่งสถานบำบัดได้โดยตรง และให้ศาลส่งสถานบำบัดได้ เมื่อจำเลยสมัครใจ
กล่าวคือกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ เป็นการรวบรวมกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้เป็นระบบ อยู่ภายใต้กฎหมายเพียง 2 ฉบับ พร้อมกับประกาศยกเลิกกฎหมายยาเสพติดเดิมทั้งหมด 24 ฉบับ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการนำไปปฏิบัติจริง หรือเรียกได้ว่า กฎหมายใหม่นี้จะลดความเป็นอาชญากรรมลง และกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดมากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับความเป็นมากขึ้น ขณะที่ส่วนของการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามารับผิดชอบแทน
ร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างกฎหมายล่าสุดที่ ครม. อนุมัติหลักการ ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2565 เพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้านแรง และพิจารณาให้รับการบำบัดรักษาแทนการรับโทษจำคุก
มีเนื้อหาดังต่อไปนี้