สรุปข่าว "ยุบ กอ.รมน." หน่วยงานนี้จำเป็นไหม? ก้าวไกลชี้เปลืองงบ แต่นายกฯ ขอค้าน

สรุปข่าว "ยุบ กอ.รมน." หน่วยงานนี้จำเป็นไหม? ก้าวไกลชี้เปลืองงบ แต่นายกฯ ขอค้าน

สรุปข่าว "ยุบ กอ.รมน." หน่วยงานนี้จำเป็นไหม? ก้าวไกลชี้เปลืองงบ แต่นายกฯ ขอค้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกหนึ่งข่าวที่สังคมให้ความสนใจในขณะนี้ คือกรณีของร่างกฎหมาย “ยุบ กอ.รมน.” ที่พรรคก้าวไกลเสนอ เพื่อทำลายโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐที่ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหารมาใช้จัดการความมั่นคงภายใน พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ทว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (31 ต.ค. 66) ยืนยันชัดเจนว่าไม่คิดยุบ กอ.รมน. แต่จะเปลี่ยนภารกิจใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย

แล้วเส้นทางของประเด็น “ยุบ กอ.รมน.” เป็นอย่างไร Sanook สรุปข่าวร้อนที่คุณอาจจะพลาดไปมาฝากทุกคน!

“กอ.รมน.” คืออะไร

กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร เป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แปรสภาพจากกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ในปี พ.ศ. 2516 ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางเพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ สามารถแบ่งเป็น 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใจราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
  2. อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผนและแนวทางนั้น
  3. อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผน และแนวทางในการปฏิบัติงานตามข้อ 2
  4. เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม
  5. ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร

กอ.รมน. ถูกมองว่าเป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย และมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ 2557 โดยในปี พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้อนุมัติร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งให้ กอ.รมน. มีอำนาจกว้างขวางในการรับมือกับภัยคุกคามประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาตนายกรัฐมนตรี ขณะที่หลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ก็มีการขยายอำนาจของ กอ.รมน. ให้สามารถตีความภัยคุกคามได้เอง พร้อมเพิ่มงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ก้าวไกลเสนอร่างยุบ กอ.รมน.

นโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกลที่ได้รับความสนใจจากประชาชน คือ “การยุบ กอ.รมน.” โดยรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอ "ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. …" ซึ่งเป็นร่างที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเข้าสู่สภาเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และอยู่ในระกว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

โดยเหตุผลที่ต้องการยกเลิก เนื่องจากกฎหมายนี้ให้อำนาจข้าราชการทหารในการดำเนินงานเรื่องความมั่นคงภายในประเทศผ่าน กอ.รมน. ที่มีความซับซ้อน และทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองกำลังคนและงบประมาณของประเทศ

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เปิดให้ฟังความคิดเห็นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พบว่ามีคนเข้ามาร่วมแสเงความคิดเห็นแล้วทั้งสิ้น 46,376 คน แบ่งเป็น

  • เห็นด้วยว่าควรยุบ 27.74 เปอร์เซ็นต์
  • ไม่เห็นด้วย 71.68 เปอร์เซ็นต์
  • งดออกเสียง 0.57 เปอร์เซ็นต์

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?&id=285&error_protect 

นายกฯ ยืนยันไม่ยุบ กอ.รมน.

ด้านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อวานนี้ (31 ต.ค. 66) ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบ กอ.รมน. และไม่มีอยู่ในนโยบายของรัฐบาลนี้ แต่จะมีการเปลี่ยนภารกิจใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย สร้างบทบาทอีกหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจและสร้างนาคตที่ดีกว่าให้กับประชาชน

เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin

“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้มีความตั้งใจและไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลนี้เลยแม้แต่สักน้อย เราพูดด้วยผลงานดีกว่า อย่าไปพูดกันเรื่องวาทกรรม ก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้นๆ ไปแล้วกัน ให้เขาไปเขียนเข้าสู่สภาเอาเองแล้วกัน ทางฝ่ายกองทัพ ทางฝ่ายหน่วยงานรัฐ ทางฝ่ายภาคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เราทำงานอย่างเดียวครับ แล้วให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสินแล้วกัน” เศรษฐากล่าว

ขณะที่สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ระบุไม่ยุบหรือลดบทบาทของ กอ.รมน. แต่ยอมรับว่าบางยุคก็ถูกนำไปช่วยการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่เกิดผลดีต่อการสร้างความสงบ หลังจากนี้ตนจะกำชับกลาโหมให้ระวัง โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการไอโอ ที่สุทินชี้ว่าทำได้ แต่ขอให้เป็นเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ กองทัพ และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกองทัพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook