รู้หรือไม่? สมัยพระเจ้าท้ายสระ ไข้ทรพิษระบาด ข้าวยากหมากแพง คนล้มตายครึ่งเมือง
รู้หรือไม่ หลังพระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์ได้ 4 ปี เกิดไข้ทรพิษระบาดรุนแรง ข้าวยากหมากแพง คนตายครึ่งเมือง
เมื่อ พ.ศ. 2255 หลังสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 4 ปี กรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุการณ์ ไข้ทรพิษระบาด กินระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้มตายจำนวนมาก และระหว่างเกิดไข้ทรพิษระบาดก็ยังเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงที่สุดจนแทบหาซื้อไม่ได้ แม้ว่าราคาข้าวในรัชกาลพระองค์เคยเป็นยุครุ่งเรืองในการค้าข้าว และยังมีราคาถูกที่สุดเพียงเกวียนละ 7 บาทกว่าก็ตาม
โดยปรากฏหลักฐานชั้นต้นในจดหมายมองซิเออร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการ คณะต่างประเทศ วันที่ 14 เดือนธันวาคม ค.ศ.1712 (พ.ศ. 2255) และจดหมายของมองซิเออร์เดอบูร์ ถึง มองซิเออร์เตเชีย วันที่ 10 เดือนกันยายน ค.ศ. 1713 (พ.ศ. 2256) ความว่า
“พวกข้าพเจ้าได้มาถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 1 เดือนมีนาคม มองเซนเยอร์เดอซาบูร์ ได้จัดการอย่างดีเหลือที่ข้าพเจ้าจะพรรณาได้ ข้าพเจ้ามีความประหลาดใจมากที่ได้เห็นบ้านเมืองร่วงโรยลงไปมากทั่วพระราชอาณาเขต เมืองไทยเวลานี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยเมื่อครั้ง 50 ปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเราได้มาเห็นเป็นครั้งแรก ในเวลานี้ไม่ได้มีเรือต่างประเทศจำนวนมากมายหรือเรือไทยไปมาค้าขายดังแต่ก่อนแล้ว ถ้าจะเทียบกับเมืองไทยในเวลานี้เท่ากับเป็นป่าที่ไม่มีคนอยู่ ด้วยราษฎรพลเมืองมีจำนวนน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง"
"เมื่อต้นปีนี้ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้น ซึ่งกระทำให้พลเมืองล้มตายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งการที่ข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ตามปกติในปีก่อน ๆ ข้าวที่เคยซื้อกันได้ราคา 1 เหรียญนั้น บัดนี้ 10 เหรียญ ก็ยังหาซื้อเกือบไม่ได้ การที่ข้าพเจ้ามาครั้งนี้ได้ทำให้มองเซนเยอร์เดอซาบูร์ ได้รับความลำบากขึ้นมาก เพราะต้องหาเลี้ยงผู้คนจำนวนมากขึ้น"
ข้อมูลจาก นายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้จัดการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย กล่าวถึง “โรคระบาด” หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “โรคห่า” นั้น ในอดีตเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ถือเป็นเหตุการณ์อัปมงคล เพราะการเกิดโรคห่าขึ้นแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงมาก เนื่องด้วยมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งเป็นจำนวนนับหมื่นคน จนกระทั่งมีคำที่เรียกเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง” โดยโรคห่าที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แม้ว่าภายหลังจะเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาตโรคก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ระบุไว้ 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ
ในสมัยอยุธยาโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดทั้งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งทรงสวรรคตจากการติดเชื้อไข้ทรพิษ
นอกจากนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังทรงเคยได้รับเชื้อไข้ทรพิษจากการแพร่ระบาดเมื่อยังหนุ่มอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากร่างกายยังหนุ่มและแข็งแรงทำให้รอดจากโรคมาได้ นอกจากนี้ยังมีการแพร่ระบาดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน โดยในช่วงนี้มีการพบบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสว่าได้เริ่มเข้ามารักษาโรคในประเทศไทย แต่ความรู้ทางการแพทย์ขณะนั้นยังไม่ต่างกันมาก มีการใช้วิธีปลุกเสกและน้ำมนต์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เกิดขึ้นสมัยของสมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 กรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่ามีคนเสียชีวิตไปถึง 8 หมื่นคน ส่งผลต่อรัฐในขณะนั้น เพราะในสมัยนั้นทุกอย่างต้องอาศัยกำลังคน