รู้จัก วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดิน-เชื้อพระวงศ์ ในสมัยอยุธยา
ตามรอยพรหมลิขิต รู้จัก วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินและเชื้อพระวงศ์ สมัยอยุธยา
วัดโคกพระยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งที่มีหลักฐานกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยเริ่มสถาปนาพระนครศรีอยุธยาเพราะเป็นสถานที่ใช้ในการสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรเป็นต้นมา
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงวัดโคกพระยาไว้หลายช่วง โดยส่วนมากจะกล่าวถึงในฐานะที่ใช้เป็นสถานที่ที่ใช้ในการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น
- สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระรัษฎาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระยอดฟ้า พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระศรีเสาวภาคย์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระพันปีศรีศิลป์ พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถูกสำเร็จโทษโดยออกญากลาโหมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าปราสาททอง
- สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
- พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา
- เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด พระราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
- กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ตามโบราณราชประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดโคกพระยา เป็นสถานที่สำหรับนำพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกถอดออกจากราชสมบัติและเจ้านายในพระราชวงศ์ไปกระทำการสำเร็จโทษ โดยพระมหากษัตริย์ที่ถูกถอดราชสมบัติส่วนใหญ่เกิดจากเหตุรัฐประหารผลัดแผ่นดิน
หรือในกรณีของการสำเร็จโทษเจ้านายก็เนื่องจากทำผิดกฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายอาญาของบ้านเมือง ซึ่งหากต้องโทษประหารจะถูกนำไปสำเร็จโทษในบริเวณวัดโคกพระยา ดังปรากฏความระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งสันนิษฐานว่าตราขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย
จากจดหมายเหตุของวันวลิต ชาวฮอลันดาที่เข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กล่าวถึงการนำเจ้านายไปสำเร็จโทษในสถานที่เรียกว่า วัดพระเมรุโคกพระยา โดยระบุตำแหน่งว่าอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ซึ่งในปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้กับวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส ซึ่งพื้นที่ทางเหนือของวัดหน้าพระเมรุเป็นทุ่งนากว้างเรียกว่า ทุ่งลุมพลี มีคลองสระบัวไหลผ่าน ใกล้ๆ กันมีเนินที่มีวัดร้างซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วัดโคกพระยา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เดียวกับกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและในจดหมายเหตุ ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้าไปบูรณะซากวัดแห่งนี้
นอกจากนี้ ในบริเวณที่ห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า โคกพระยา เหมือนกัน อยู่กลางทุ่งภูเขาทองใกล้กับพระเจดีย์ภูเขาทอง มีการอ้างอิงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปยืนช้างทอดพระเนตรดูกำลังข้าศึกบนเนินโคกพระยาซึ่งในพงศาวดารระบุว่าอยู่ใกล้ทุ่งภูเขาทอง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ใช้สำเร็จโทษเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เหตุผลประกอบแล้ว คาดว่าสถานที่สำเร็จโทษกษัตริย์และเจ้านายไม่น่าจะเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลพระราชวังมากนัก ด้วยเหตุของปัญหาที่ว่าการนำกษัตริย์หรือเจ้านายไปสำเร็จโทษนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงตัวกษัตริย์หรือเจ้านายที่ต้องโทษ และเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้กษัตริย์พระองค์ใหม่สามารถปราบดาภิเษกขึ้นมาระงับเหตุได้ทันท่วงที และจัดการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองต่อไป