ไขข้อข้องใจ หลายประเทศปรับนาฬิกาใหม่ "ช่วงเวลาออมแสง" คืออะไรและเพื่ออะไร?
หลายประเทศในทวีปอเมริกา ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา และคิวบา ปรับนาฬิกาของตนเข้าสู่เวลาใหม่ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อยุติช่วงการออมแสง (Daylight Saving Time) ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงกันในสหรัฐฯ ว่า ควรจะดำเนินต่อไปหรือไม่
นี่คือเกร็ดความรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวและประเด็นถกเถียงต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
- อะไรคือการออมแสง (Daylight Saving Time)
การออมแสงนั้นคือ การเลื่อนเข็มนาฬิกาไปข้างหน้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในช่วงเดือนฤดูร้อนเพื่อให้ได้รับแสงธรรมชาตินานขึ้นในช่วงเย็น โดยหลายประเทศในอเมริกาเหนือและยุโรปปฏิบัติตามหลักการนี้ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มิได้สนใจทำตาม
การดำเนินตามนโยบายการออมแสงนั้นเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมากตั้งแต่ต้น เพราะมีทั้งประเทศที่ยอมรับและปฏิเสธ กลับไปกลับมา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอียิปต์ที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่า จะกลับมาใช้นโยบายนี้อีกครั้ง หลังหยุดใช้งานไปเป็นเวลา 7 ปี โดยระบุว่า จุดประสงค์ในครั้งนี้ก็คือ เรื่องของการใช้พลังงานในประเทศ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเคยพิจารณาจะใช้นโยบายนี้ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ปี 2020 แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ทำตาม เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ รวมทั้งปัญหาความท้าทายด้านเทคนิคหลายอย่าง
- การออมแสงในสหรัฐฯ สิ้นสุดลงเมื่อใดในปี 2023
การออมแสงในสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งนั้นสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 02:00 น. ของวันที่ 5พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่นโดยมีผลให้ต้องปรับเวลาย้อนหลังไป 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การออมแสงนั้นมักจะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนในสหรัฐฯ แต่สำหรับในอังกฤษและสหภาพยุโรปนั้น ประเทศเหล่านี้เริ่มปรับเวลาในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคมไปจนถึงวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม
- ทำไมถึงมีการคิดค้นการออมแสงขึ้นในสหรัฐฯ และเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
ว่ากันว่าแนวคิดสมัยใหม่ในการปรับนาฬิกาเพื่อให้เข้ากับฤดูกาลน่าจะเริ่มต้นมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1900
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวไม่ค่อยได้รับความนิยมในช่วงต้น จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่หลายประเทศในยุโรปต้องการหายุทธศาสตร์มาช่วยอนุรักษ์พลังงาน โดยเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่นำนโยบายนี้มาปฏิบัติในปี 1916 ก่อนที่สหรัฐฯ จะทำตามในปี 1918
ทั้งนี้ มีความเชื่อกันว่าการที่สหรัฐฯ นำนโยบายนี้มาใช้ก็เพื่อประโยชน์ต่อบรรดาเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรหลายรายไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายนี้ เนื่องจากนำมาซึ่งความไม่สะดวกในการจัดตารางทำงานของตน
- ทุกรัฐในสหรัฐฯ ดำเนินตามนโยบายนี้เหมือนกันหรือไม่
รัฐฮาวายและรัฐแอริโซนา ยกเว้นเฉพาะในกลุ่มชุมชนชาตินาวาโฮ (Navajo Nation) ไม่ดำเนินการตามนโยบายออมแสง ขณะที่ ดินแดนในการปกครองของสหรัฐฯ เช่น อเมริกันซามัว (America Samoa) กวม (Guam) หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (Northern Mariana Islands) และเปอร์โตริโก (Puerto Rico) ไม่ได้ทำตามนโยบายนี้
- สหรัฐฯ เตรียมยุติแผนออมแสงจริงหรือไม่
สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีแผนที่จะยุติแผนงานออมแสงในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ รัฐบาลกลางนั้นมีแผนที่จะผ่านฎหมายที่ชื่อ Sunshine Protection Act ที่จะทำให้การออมแสงนั้นเป็นหลักปฏิบัติถาวรออกมาใช้งานอยู่