"วิโรจน์" เปิดข้อมูลฉะ "สุทิน" สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้ทัพเรือมาแจง "เรือดำน้ำ" กมธ.ทหาร

"วิโรจน์" เปิดข้อมูลฉะ "สุทิน" สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้ทัพเรือมาแจง "เรือดำน้ำ" กมธ.ทหาร

"วิโรจน์" เปิดข้อมูลฉะ "สุทิน" สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้ทัพเรือมาแจง "เรือดำน้ำ" กมธ.ทหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประธาน กมธ.ทหาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในประเด็น นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งกะทันหันไม่ให้กองทัพเรือมาชี้แจง "เรือดำน้ำ" กมธ.ทหาร รู้อัตราค่าปรับแล้ว หากตัดสินใจถูกต้อง ยังอยู่ในวิสัยที่จะจำกัดความเสียหายได้

1) อันที่จริงแล้ว กองทัพเรือจะเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ทหาร พร้อมกับสำนักงบประมาณกลาโหม ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 แต่เวลาประมาณ 12.00 น. ทางกองทัพเรือได้โทรศัพท์มาแจ้งด้วยวาจาว่า รมว.กลาโหม เพิ่งจะมีคำสั่งไม่ให้กองทัพเรือมาชี้แจง โดยให้เฉพาะสำนักงบประมาณกลาโหม เป็นผู้ชี้แจงเท่านั้น ซึ่งคณะผู้มาชี้แจงประกอบด้วย พล.อ.อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม พล.อ.ต.ธวัชชัย สงวนเรือง ผช.ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม และ พ.อ.อาร์ม พันกะหรัด ผอ.กองการพัสดุ สำนักงบประมาณกลาโหม พร้อมด้วยคณะ

2) ในเรื่องของการเปิดเผยสัญญา G2G การจัดซื้อเรือดำน้ำ สำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งต่อ กมธ.ทหารว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยสัญญา G2G ได้ เพราะในสัญญามีเงื่อนไขที่คู่สัญญาต้องปกปิดข้อมูลในสัญญา (NDA: Non-Disclosure Agreement) โดยต้องรอให้บริษัท CSOC อนุญาตก่อน ซึ่งทางกองทัพเรือได้ทำหนังสือขอไปยัง บริษัท CSOC เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 แล้ว ในกรณีนี้ กมธ.ทหาร มีความเห็นแย้งว่า เงื่อนไข NDA นั้นระบุไว้เพียงแค่ห้ามเปิดเผยรายละเอียดในส่วนของเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นความลับในการผลิตเท่านั้น ไม่ได้ห้ามเปิดเผยในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเรื่องงบประมาณ และการปกป้องเงินภาษี และผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน การไม่เปิดเผยข้อมูลจึงเป็นการตีความเงื่อนไข NDA อย่างกว้าง เพื่อปกปิดข้อมูลต่อประชาชน

กมธ.ทหาร จึงมีมติให้ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาได้ทำหนังสือต่อไปยังประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ 2567 เพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณ ขอคำมั่นในการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณ จากเหล่าทัพ และกระทรวงกลาโหม ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หากไม่ได้รับคำมั่น ก็ไม่ควรพิจารณาอนุมัติงบประมาณ เพราะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ขาดความโปร่งใส และทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเสียหายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม กมธ.ทหารจะติดตามทวงถามสัญญา G2G อีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม

3) สำนักงบประมาณกลาโหมได้ชี้แจงว่า ในสัญญา G2G นั้นมีการระบุค่าปรับเอาไว้ประมาณ 0.05-0.06% ต่อวัน ของมูลค่างานที่ส่งมอบไม่ได้ ซึ่ง กมธ.ทหาร ประเมินว่า น่าจะอยู่ราวๆ วันละ 0.05%x7,000 ล้านบาท = 3.5 ล้านบาท แต่การจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ อยู่ในรูปแบบของข้อตกลง ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสัญญา จึงมีความยืดหยุ่นในการเจรจาหาทางออกร่วมกัน และอาจจะไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การปรับ ซึ่ง กมธ.ทหาร เห็นด้วยที่จะใช้การเจรจาในการหาทางออก เพียงแต่ว่า จะต้องเป็นทางออกที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครต้องตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ ที่อธิบายกับประชาชนไม่ได้

สำนักงบประมาณกลาโหม ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สัญญา G2G จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 โดยระหว่างนี้ทางบริษัท CSOC ได้ทำหนังสือแจ้งขอขยายสัญญาออกไป 123 วัน จากเหตุโควิด-19 แต่ยังไม่ได้อนุมัติการขอขยายสัญญาดังกล่าว โดยการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสัญญาทางสำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งว่า จะพิจารณาดำเนินการ หลังจากที่สัญญาสิ้นสุดลง ในประเด็นนี้ กมธ.ทหาร มีความกังวลอย่างมาก เพราะหนังสือทวงถาม หนังสือเร่งรัดติดตามโครงการ หรือหนังสือสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับตามสัญญา นั้นสามารถทำได้ในระหว่างสัญญา ไม่จำเป็นต้องรอให้สัญญาสิ้นสุดลงก่อน หากระหว่างนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กองทัพเรือกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในข้างต้นนี้เลย ประเทศชาติก็อาจตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบได้ และในท้ายที่สุดทั้ง รมว.กลาโหม และกองทัพเรือ ก็ไม่อาจหนีพ้นจากความรับผิด กมธ.ทหาร จึงได้มีมติเสนอแนะในเรื่องนี้ ต่อสำนักงบประมาณกลาโหม เพื่อแจ้งให้ รมว.กลาโหมทราบต่อไป

4) แม้ว่าในสัญญาจะไม่ได้ระบุชื่อเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องผลิตไฟฟ้าว่าเป็น MTU396 แต่การระบุสเปคว่า 16V 396 SE84-GB31L ก็คือเครื่องยนต์ MTU396 ไม่สามารถตีความเป็นเครื่องยนต์รุ่นอื่นได้ ซึ่งเครื่องยนต์รุ่นนี้ประเทศจีนได้รับลิขสิทธิ์มาผลิตกว่า 30 ปีแล้ว แต่ได้รับแจ้งในภายหลังว่า ห้ามนำเอาเครืาองยนต์ดังกล่าวนี้ มาติดตั้งในเรือดำน้ำ ทั้งการผลิตเพื่อใช้เอง และการผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจาก EU มีข้อตกลงร่วมที่ห้ามมิให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศจีน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเด็นดังกล่าว กมธ.ทหาร เชื่อว่า อยู่ในวิสัยที่ทูตทหารจะต้องตั้งข้อสงสัยไว้บ้าง เป็นไปไม่ได้ที่ทูตทหารจะไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้สอบถามว่ากองทัพเรือได้ทำหนังสือขอคำยืนยันในเรื่องเครื่องยนต์ MTU396 ก่อนที่จะลงนามในสัญญาหรือไม่ ซึ่งสำนักงบประมาณกลาโหม แจ้งว่าไม่สามารถตอบแทนกองทัพเรือได้ กมธ.ทหาร จึงมีมติแจ้งให้ผู้ที่มาชี้แจง ให้นำกลับไปเรียนต่อ รมว.กลาโหมว่า หนังสือขอการยืนยันในเรื่องเครื่องยนต์ MTU396 ก่อนที่จะลงนามในสัญญา นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากมิได้ดำเนินการ ก็อาจถือได้ว่าเป็นความหละหลวม ซึ่งจำเป็นต้องมีการสืบสวน สอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป

5) งบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้ว กับโครงการเรือดำน้ำ มีทั้งสิ้นต่อไปนี้

  • เรือดำน้ำ วงเงินงบประมาณ 13,900 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 63%
  • ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่หนึ่ง 857 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 54%
  • ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่สอง 810 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 50%
  • โรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ 1,016 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 43%
  • คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน 129 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 60%
  • อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี 138 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 100%
  • ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท ในส่วนของระบบในการสื่อสารภาคพื้นดิน วงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 10 ล้านบาท สำหรับอุปกรณ์ของระบบสื่อสาร วงเงินงบประมาณ 230 ล้านบาท ถูกชะลอโครงการยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย

สำหรับเรือหลวงช้าง 6,100 ล้านบาท และอาคารพักข้าราชการ 294 ล้านบาท แม้ว่าจะเบิกจ่ายไปเต็มจำนวนแล้ว แต่ กมธ.ทหาร มีความเห็นว่า ภารกิจของเรือหลวงช้าง นั้นมีภารกิจแยกต่างหากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของเรือดำน้ำแต่แรก แต่เป็นเพราะการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องของกองทัพเรือ ที่อ้างว่าเรือหลวงช้างนั้นเป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำ จึงทำให้ถูกผนวกมาเป็นโครงการเรือดำน้ำ ส่วนอาคารพักข้าราชการ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสวัสดิการของข้าราชการ จึงไม่ควรนับเอา 2 รายการนี้ มารวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

สรุปแล้วจากวงเงินงประมาณทั้งสิ้น 17,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่ยังสามารถบริหารจัดการให้มูลค่าความเสียหายอยู่ในวงจำกัด โดยไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบงบประมาณ กมธ.ทหาร จึงขอให้สำนักงบประมาณกลาโหมส่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยของบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปแล้ว พร้อมกับรายการโอนเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน

5. สำหรับกรณีที่ รมว.กลาโหม ตอบกลับมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นมาว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงสัญญาในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำ นั้นถูกตีความว่าเป็นข้อตกลง ไม่ใช่สัญญา จึงไม่เข้าข่ายเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นดังกล่าวนี้ กมธ.ทหาร มีความกังวลอย่างมาก เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 178 ไม่ได้สนใจชื่อเรียกว่าเป็นข้อตกลง หรือเป็นสัญญา หากการลงนามตกลงดังกล่าว มีผลผูกพันกับความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 178 นั้นสิ้น อย่างในกรณี “เขาพระวิหาร” ซึ่งเป็นเพียงการแถลงการณ์ร่วม ก็ยังถือว่าเข้าข่ายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 (เทียบเคียงได้กับมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560) หรืออย่างกรณีสัญญา G2G ของโครงการจำนำข้าว ก็ถูกตีความว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นกัน และนำมาซึ่งการดำเนินคดีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา

กมธ.ทหาร จึงมีมติส่งหนังสือทักท้วงไปยัง รมว.กลาโหม และขอให้ รมว.กลาโหม ส่งรายงานความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตีความว่าสัญญา G2G ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาให้ กมธ.ทหาร พิจารณาตรวจสอบด้วย

6. ในกรณีการแลกเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากสำนักงบประมาณกลาโหม ว่าจะทำมาแทนโครงการสั่งต่อเรืออานันทมหิดล (เรือคู่แฝดของเรือหลวงภูมิพลที่เข้าประจำการเมื่อปี 2562) ซึ่งได้รับเงื่อนไขที่จะมาต่อเรือที่ประเทศไทย พร้อมกับได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเกาหลีใต้ หรือไม่ ซึ่ง กมธ.ทหาร มีความเห็นว่าการแลกเป็นเรือฟริเกตจีน (Type 054A) น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพเรือที่ระบุเอาไว้ที่สมุดปกขาว แม้ว่าเรือฟริเกตจีน แม้ว่าจะมีศักยภาพสูง แต่เป็นเรือคนละ Class กับเรือรบหลวงภูมิพล ที่สั่งต่อจากเกาหลีใต้ มีระบบการทำงาน การเชื่อมต่อข้อมูล (Datalink) การบำรุงรักษา การสำรองอะไหล่ ตลอดจนอาวุธที่ติดตั้งบนเรือ ที่แตกต่างกัน ซึ่งหากนำมาประจำการ ก็จะเป็นภาระอย่างมากต่อกองทัพเรือ ที่สำคัญเรือฟริเกตจีน นั้นใช้เครื่องยนต์ Pielstick ของฝรั่งเศส ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก ที่ฝรั่งเศสจะไม่ขายเครื่องยนต์ให้กับจีน เหมือนกับกรณีเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี ซึ่งเท่ากับว่า หากแลกเป็นเรือฟริเกตจีน ก็อาจจะต้องพันวนมาที่ปัญหาเดิม กมธ.ทหาร จึงมีมติ ให้ทบทวนการตัดสินใจโดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพเรือ ที่ระบุเอาไว้ในสมุดปกขาวให้รอบคอบ เพราะตกลงแล้ว ณ วันนี้ กรณีแลกเป็นเรือฟริเกตจีนที่ รมว.กลาโหม อ้างว่าเป็นความประสงค์ของกองทัพเรือ แต่ข้อมูลที่ กมธ.ทหาร ทราบนั้นกลับเป็นไปในอีกทางหนึ่ง คือ กองทัพเรือไม่ได้ต้องการ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับสมุดปกขาว

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงบประมาณกลาโหม ได้ชี้แจงว่า เรือฟริเกตจีน อาจจะเป็นการสั่งต่อเพิ่มเติมจากเรือรบหลวงอานันทมหิดล ก็เป็นได้ และตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ก็ได้ระบุเอาไว้ว่ามีความต้องการเรือฟริเกตถึง 8 ลำ โดยปัจจุบันมีเรือฟริเกตประจำการอยู่เพียง 5 ลำ ต่อให้มีเพิ่มอีก 2 ลำ คือ เรือรบหลวงอานันทมหิดล และเรือฟริเกตจีน ก็ยังไม่เกินกรอบ 8 ลำ

ในประเด็นดังกล่าวนี้เพื่อความชัดเจน ทาง กมธ.ทหาร จะขอให้กองทัพเรือได้จัดส่งส่งแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีเรือฟริเกต 8 ลำ พร้อมกับรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีวงเงินงบประมาณในการศึกษาสูงถึง 200 ล้านบาท มาให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณา และเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย เพราะในเมื่อการศึกษานั้นใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ผลการศึกษาก็ควรต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนได้

อย่างไรก็ตาม กมธ.ทหาร จะติดตามกรณีเรือดำน้ำอีกครั้งในเดือนธันวาคม และจะติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีความชัดเจน

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ "วิโรจน์" เปิดข้อมูลฉะ "สุทิน" สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้ทัพเรือมาแจง "เรือดำน้ำ" กมธ.ทหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook