สรุปข่าว #เลิกบังคับแปรอักษร ดราม่าร้อนจาก "งานบอลจตุรมิตร"

สรุปข่าว #เลิกบังคับแปรอักษร ดราม่าร้อนจาก "งานบอลจตุรมิตร"

สรุปข่าว #เลิกบังคับแปรอักษร ดราม่าร้อนจาก "งานบอลจตุรมิตร"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกหนึ่งประเด็นร้อนช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นประเด็นจาก “งานบอลจตุรมิตร” หลังมีศิษย์เก่ามาติดป้าย “เลิกบังคับแปรอักษร” ก่อนจะลุกลามเข้าไปในโลกโซเชียลและกลายเป็นดราม่าเดือดของฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็น มีคนเข้ามาถกเถียงและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก แล้วเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร Sanook สรุปดราม่างานจตุรมิตร 2566 ที่ว่าด้วยการยกเลิกบังคับนักเรียนขึ้นแปรอักษร และขอให้เปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจแทน

“จตุรมิตร” คืออะไร

งานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี หรือที่เรียกติดปากว่า “จตุรมิตร” คือการแข่งขันฟุตบอลประเพณีของ 4 โรงเรียนชายล้วน คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ โดยกิจกรรมมีทั้งการแข่งขันฟุตบอล แข่งขันการแปรอักษร และกิจกรรมอื่นๆ 

Jaturamitr 30

จตุรมิตรสามัคคีจัดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2507 เพื่อกระชับความสามัคคีและสานสัมพันธ์ของทั้ง 4 โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันฟุตบอลก็ถือเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า โดยศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจะร่วมกันเชียร์บนอัฒจันทร์ สวมเสื้อฟุตบอลของโรงเรียนตัวเอง และร้องเพลงประจำสถาบันเพื่อปลุกใจ

ไฮไลต์สำคัญคือ “การแปรอักษร”

ไฮไลต์สำคัญอันหนึ่งของงานจตุรมิตรคือ “การแปรอักษร” ของทั้ง 4 สถาบัน ที่ถูกวางแผนและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นความสวยงามและความพร้อมเพรียงเท่านั้น แต่ยังมีการตอบโต้จอกกัดระหว่างโรงเรียนให้คนดูได้อมยิ้มตามกันไป

Assumption College • โรงเรียนอัสสัมชัญ

แม้จะเป็นไฮไลต์สำคัญของงาน แต่ก็เป็นกิจกรรมที่อันตรายต่อนักเรียนด้วยเช่นกัน เพราะการขึ้นอัฒจันทร์แปรอักษรทำให้นักเรียนต้องตากแดดเป็นเวลานานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ทำให้สุขภาพผิวเสียหาย นักเรียนเสี่ยงเป็นลมแดดเพราะอากาศที่ร้อน ถูกบังคับห้ามไปเข้าห้องน้ำ ทำให้นักเรียนต้องฉี่ใส่ขวดน้ำแทน นอกจากนี้ การขึ้นแปรอักษรยังถูกทำให้เป็น “คะแนนพกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” ที่จะมีผลต่อการศึกษาของนักเรียนคนนั้นๆ 

#เลิกบังคับแปรอักษร

จตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 18 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (11 พ.ย.) เส้นทางตั้งแต่หน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ จนถึงบริเวณโดยรอบสนามศุภชลาศัย มีป้ายข้อความต่างๆ ที่เรียกร้องให้ “เลิกบังคับแปรอักษร” ถูกติดเอาไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์และกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน

พร้อมกันนี้ กลุ่มศิษย์เก่าฯ และนักกิจกรรม ยังมีข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการโรงเรียนในเครือจตุรมิตรในฐานะผู้จัดงาน ให้ปรับปรุงการจัดงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีให้เป็นดังต่อไปนี้

  1. ยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้นเชียร์และแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 นักเรียนต้องมีสิทธิเลือกโดยสมัครใจ อาจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมไป
  2. เพิ่มเวลาพักสำหรับผู้ขึ้นแปรอักษรอย่างชัดเจน มีเวลารับประทานอาหาร มีเวลาพักเข้าห้องน้ำ มีเวลาพักเพื่อหลบแดด มีมาตรการควบคุมคนให้สามารถเดินเข้าออกได้โดยง่าย ทั้งขณะปกติและขณะฉุกเฉิน เช่นไฟไหม้
  3. จัดสวัสดิการให้มีปัจจัยอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์์บนอัฒจันทร์ เช่น ครีมกันแดดสำหรับใบหน้าและร่างกาย

ชาวเน็ตเสียงแตก

หลังมีการเผยแพร่ภาพป้ายข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร ในโลกโซเชียล ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น พูดคุย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันมากมาย ฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว ระบุเป็นเรื่องที่ทำกันมาจนเป็นประเพณี ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันควรมีความภูมิใจ พร้อมโจมตีกลุ่มศิษย์เก่าฯ และนักกิจกรรมว่าเอาเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าควรมีสวัสดิการในการดูแลนักเรียนที่ต้องขึ้นแปรอักษร และควรเป็นการทำกิจกรรมโดยสมัคร ไม่ใช่การบังคับหรือเอาคะแนนตัดเกรดมาเป็นข้อต่อรอง ทั้งนี้ ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ​ จากพรรคก้าวไกล ยังได้ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย โดยเธอเปิดเผยว่าเธอ “ถูกคุกคาม” หลังมีคนโทรมาข่มขู่ให้เลิกต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในประเด็นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook