เปิดกฎหมายกองทุน กยศ. ฉบับใหม่ หลัง "กิตติรัตน์" เผยคำนวณแล้ว "หนี้ลดลง 50%"
เมื่อวานนี้ (13 พ.ย. 66) กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเรื่องการหารือเพื่อแก้หนี้ กยศ. โดยใช้การคำนวณตาม “พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมและอาจทำให้หนี้ลดลงประมาณ 50% ทำให้เกิดการพูดคุยและถกเถียงกันอย่างมากในโลกออนไลน์
Sanook เปิด “กฎหมายกองทุน กยศ. ฉบับใหม่” ที่มาช่วยสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน พร้อมขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น
กฎหมายกองทุน กยศ. ฉบับใหม่
พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 โดยมีสาระสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี จากเดิมที่กำหนดให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
กองทุนยังได้ขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่
นอกจากนี้ “ลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่” ก็ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่นี้ โดยกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระ ไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 เป็นต้นไป กองทุนจะนำยอดชำระเงินทุกรายการมาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ แล้วคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือ 0.5% ซึ่งผู้กู้ยืมจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายหรือได้รับผลกระทบใดๆ
ลูกหนี้ กยศ. มากกว่า 6.5 ล้านคน
จากสถิติข้อมูล กยศ. เผยว่า ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมเงินมากกว่า 6.5 ล้านราย คิดเป็นให้กู้ยืมมากกว่า 734,127 ล้านบาท สามารถแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้
- อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3,548,923 ราย
- อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,138,102 ราย
- ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,819,051 ราย
- เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,518 ราย
(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 66)
ทั้งนี้ กยศ. ยังได้จัดอันดับข้อมูลสถิติการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศที่มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุน พบว่า มหาวิทยาลัยพะเยามีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด รองลงมาคือมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอันดับที่ 2 - 5 ตามลำดับ
ขณะที่สถานศึกษษระดับอาชีวศึกษา พบว่าวิทยาลัยเทคนิคลำปางมีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด รองลงมาคือวิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม และวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย