เรื่องควรรู้ "การประชุมเอเปค 2023" และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้บินลัดฟ้าไปร่วมประชุมเอเปค 2023 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา และได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกให้มาร่วมลงทุนในประเทศไทย หวังทำให้ประเทศไทยดีขึ้น จนคนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศ จนหลายคนสงสัยว่า “การประชุมเอเปค” ที่นายกฯ เข้าร่วมคืออะไร ทำไมจึงเป็นสะพานให้นายกฯ ไทย ได้พบปะกับนักธุรกิจและผู้นำของประเทศชั้นนำทั่วโลก
- APEC 2022 คืออะไร มีสมาชิกกี่ประเทศ สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย
- ความสามารถในการแข่งขันของคนไทยร่วงไปที่ 79 ของโลก คนฉลาดสมองไหลไป "สวิตเซอร์แลนด์"
Sanook พาไปทำความรู้จักการประชุมเอเปค และเรื่องควรรู้ของ “การประชุมเอเปค 2023” ที่จัดขึ้น ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
“เอเปค” คืออะไร
เอเปค (APEC) คือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 มีวัตถุุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อภาวะการพึ่งพาซึ่งกันและกันของเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก
ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ไทย, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีประชากรรวมกันประมาณ 2,500 ล้านคน (ประมาณ 42% ของประชากรโลก) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 62% ของโลก เรียกว่าเป็น 2 ใน 3 ของ GDP โลก
เรื่องควรรู้ “การประชุมเอเปค 2023”
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจำปี 2566 จัดขึ้น ณ เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายนนี้ โดยสหรัฐฯ ได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปีนี้ ให้อยู่ภายใต้ธีม “Creating a Resilient and Sustainable Future for All” หรือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
เหตุผลที่สหรัฐฯ เลือกซานฟรานซิสโกเป็นสถานที่ประชุมเอเปคในครั้งนี้ เพราะซานฟรานซิสโกเป็นตัวแทนของความยืดหยุ่น นวัตกรรม และความครอบคุลม ซึ่งถือเป็นธีมหลักของการประชุมในปีนี้ ทั้งนี้ ด้วย GDP ที่สูงถึง 501 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
ไฮไลท์สำคัญของการประชุมเอเปค 2023
ไฮไลท์ที่สำคัญของการประชุมเอเปค 2023 นี้ คือการพบกันของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสี จิ้งผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยคาดการณ์กันว่าผู้นำสหรัฐฯ และจีนจะหารือกันเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงประเด็นเรื่องไต้หวัน การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สิทธิมนุษยชน การค้า และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การประชุมเอเปค 2023 ในครั้งนี้ จะไร้เงาของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เนื่องจากการที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีปูตินก็ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเช่นกัน
อีกหนึ่งสีสันของการประชุมเอเปคทุกครั้ง คือการแต่งตัวของผู้นำที่จะสะท้อนวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ และผู้นำทุกคนจะถ่ายภาพหมู่ร่วมกันในวันสุดท้ายของการประชุม อย่างไรก็ตาม ชุดของผู้นำมักจะถูกเก็บเป็นความลับ ประชาชนจึงต้องรอดูวันสุดท้ายว่าผู้นำจะปรากฏตัวในชุดแบบใด
การประชุมเอเปคและการประท้วง
การชุมนุมประท้วงถือเป็นของคู่กันกับการประชุมเอเปค โดยการประท้วงที่เกิดขึ้น ณ ซานฟรานซิสโก มาจากทั้งกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลจีนและกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลจีน รวมไปถึงกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจเรื่องสงครามอิสราเอลที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีท่าทีจะว่ายุติลง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดรอยร้าวภายในเอเปคด้วยเช่นกัน เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกัน
เอเปค 2023 และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
นายกฯ เศรษฐา ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมเอเปค 2023 โดยเน้นย้ำว่าประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ทำให้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลก
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านความยั่งยืน, ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสุดท้ายด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค่าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป
ประเทศไทยกับการจัดเอเปค
ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ.2535 สมัยรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี พ.ศ.2546 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
และครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี พ.ศ.2565 ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance)
ใครจะเป็นเจ้าภาพเอเปค 2024
หลังการประชุมเอเปค 2023 จบลง สหรัฐฯ จะส่งต่อให้กับประเทศเปรู โดยเปรูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2024 ณ เมืองกุสโก ทั้งนี้ เปรูเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว ในปี พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2559