ตำนาน "พระแม่ธรณี" ในพุทธประวัติ ชื่อจริงที่คนไม่ค่อยรู้ เผยเหตุผลทำไมต้องบีบมวยผม

สำหรับการประกวด Miss Universe 2023 ในรอบชุดประจำชาติ แอนโทเนีย โพซิ้ว Miss Universe Thailand 2023 เปิดตัวมาด้วยชุดที่มีชื่อว่า “เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา” ออกแบบโดย คุณกมลรส ทูลภิรมย์ จากห้องเสื้อ ทรงเส่นห์ ผ้าลายอย่าง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปปั้น “พระแม่ธรณี” ในช่วงสมัยอยุธยา ในศตวรรษที่ 14-18 โดยออกแบบตามรูปแบบของเทวรูปสัมฤทธิ์พระธรณี และพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา การตัดเย็บเป็นหัตถกรรมการใช้เส้นลวดสอดดิ้นและถักทอด้วยมือ ตกแต่งด้วยหินสีจากธรรมชาติและอัญมณีมีค่า ที่สอดคล้องกับข้อมูลทางธรณีวิทยา และใช้ผ้าที่สวมใส่ตามที่มีการบันทึกไว้จริงตามประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น
พระศรีวสุนธรา หรือ พระแม่ธรณี หรือ แม่พระธรณี เป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเทพแห่งพื้นแผ่นดิน มีปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา โดยเชื่อว่า แผ่นดิน เป็นจุดก่อเกิดสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก จึงเปรียบเสมือน มารดา ผู้หล่อเลี้ยงโลก และยกย่องเป็นเทพีผู้ค้ำจุนโลก และสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
ในประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในไทย ถูกนับถือเป็นอย่างสูงและได้รับการบูชาตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย พระแม่ธรณี มักถูกสร้างรูปแบบให้เป็นเทวรูปที่สวยงามมีผมยาวและมีน้ำศักดิ์สิทธ์เก็บไว้ในผม ซึ่งน้ำที่ไหลออกมานั้นในที่สุดจะบำรุงโลกมนุษย์ด้วยน้ำที่มั่นคง ธรณี หมายถึง โลกหรือดิน นั้นกล่าวถึงความเชื่อว่าท่านสถิตย์อยู่ในดินที่ทรงประทานความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งเธอเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติต่อมนุษย์ และแสดงถึงการปกป้องผืนแผ่นดินและความรุ่งเรือง ที่คนไทยจะให้ความเคารพบูชาเสมอมา
พระแม่ธรณี ปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติ กล่าวคือ เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์หรือเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้นั้น ได้นั่งบนหญ้าคาที่โสตถิยะพราหมณ์ถวายที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ ทรงได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า "ถ้าเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจักไม่ยอมลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที”
จากนั้นได้ประทับนิ่งและเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต ขณะนั้นเป็นเวลาพระอาทิตย์ตกดิน พญามารที่ชื่อว่า "วสวัสตี” ที่คอยขัดขวางการกระทำความดีของพระโพธิสัตว์มาโดยตลอด เมื่อทราบถึงพระดำริปณิธานนั้น ก็เกิดความหวั่นเกรงว่า หากปล่อยให้บรรลุความสำเร็จตามที่ตั้งสัตย์อธิษฐานแล้ว พระองค์ก็จะพ้นอำนาจของตนไป จึงได้ระดมพลเสนามารทั้งหลายมาทำการก่อกวนด้วยวิธีต่างๆนานาเพื่อให้พระองค์เกิดความเกรงกลัวและตกใจหนีไป เช่น บันดาลให้เกิดพายุพัดรุนแรง เกิดฝนตกหนัก บันดาลอาวุธต่างๆ ยิงตกต้องพระองค์ ฯลฯ
แต่กระนั้นพระองค์หาได้หวั่นเกรงไม่ กลับทรงตั้งจิตมั่นระลึกถึงบุญบารมีต่างๆที่เคยทรงบำเพ็ญมา โดยไม่หวาดกลัวต่ออำนาจทำลายล้างของเหล่ามารที่มาผจญ ยิ่งกว่านั้นบรรดาศรัตราวุธที่ส่งมาทำร้าย ล้วนกลับกลายเป็นบุปผามาลัยบูชาพระองค์ไปสิ้นเมื่อเห็นดังนั้น พญามารจึงใช้วิธีใหม่ โดยกล่าวว่า บัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่นั้น เป็นบัลลังก์ที่เกิดด้วยบุญบารมีของตน หาใช่ของพระสิทธัตถะไม่
ทั้งนี้ ได้อ้างเหล่าเสนามารทั้งหลายเป็นพยาน พระสิทธัตถะก็โต้กลับพญามารว่า บังลังก์ที่ทรงประทับนี้เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญมานานจนนับประมาณมิได้ พระองค์จึงมีสิทธิ์นั่งโดยชอบธรรม พญามารไม่ยินยอม กล่าวคัดค้านและถามหาพยานของพระองค์ พระสิทธัตถะจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาชี้ลงไปที่พระแม่ธรณี และขอให้ทรงเป็นพยานถึงการบำเพ็ญกุศลของพระองค์ในกาลก่อนขณะนั้นพระแม่ธรณีที่ชื่อว่า "วสุนธรา” ก็ได้มาปรากฏองค์แสดงอภิวาทต่อพระมหาบุรุษและได้ประกาศยืนยันต่อพญามารว่า พระมหาบุรุษเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญบุญมามากมายสุดจะประมาณได้ แค่น้ำที่หลั่งทักษิโณทกลงบนมวยผมของพระนาง ก็เหลือจะคณานับ
ว่าแล้วก็ปล่อยมวยผม บีบน้ำที่พระมหาบุรุษกรวดสะสมไว้นับแต่อดีตเป็นเอนกชาติหลั่งออกมาเป็นกระแสน้ำไหล่บ่ามาอย่างแรง จนพัดพาพญามารและเหล่าเสนามารลอยไปไกลจนสุดขอบฟ้า พญามารต้องตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ และยอมรับความพ่ายแพ้ในที่สุด เมื่อกำจัดเหล่ามารไปสิ้นแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยเจริญภาวนาสมาธิบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป จนตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนั้น ก็คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชานั่นเอง
ดังนั้น ด้วยพระอิริยาบถที่ทรงชี้พระหัตถ์ขวาลงไปที่พระแม่ธรณี เพื่อขอให้เป็นพยานในบุญบารมีที่พระองค์ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับอนันตชาติ จนพระแม่ธรณีได้บีบมวยผมหลั่งน้ำที่ทรงกรวดอุทิศที่มีจำนวนมากมายมหาศาลไหลท่วมท้นเหล่ามารจนแพ้ไปนั้น จึงได้กลายมาเป็นลักษณะของพระพุทธรูป "ปางมารวิชัย” หรือ "ปางชนะมาร”
อัลบั้มภาพ 18 ภาพ