พบแล้ว! ความลับ "ต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์" จากไข่ตัวอ่อนอายุ 190 ล้านปี

พบแล้ว! ความลับ "ต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์" จากไข่ตัวอ่อนอายุ 190 ล้านปี

พบแล้ว! ความลับ "ต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์" จากไข่ตัวอ่อนอายุ 190 ล้านปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวซินหัว รายงาน คณะนักวิจัยชาวจีนค้นพบความลับของต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์ หลังศึกษาฟอสซิลไข่ที่มีตัวอ่อนไดโนเสาร์อยู่ด้านใน อายุประมาณ 190 ล้านปี และได้นำเสนอสมมติฐานว่าด้วยต้นกำเนิดของไข่ไดโนเสาร์ ว่ามีจุดเริ่มต้นจาก “ไข่เปลือกเหนียว” (leathery eggs) ซึ่งต่างจากสมมติฐานไข่เปลือกอ่อนและไข่เปลือกแข็ง

ศาสตราจารย์สวีซิงแห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน หนึ่งในสมาชิกคณะวิจัยกล่าวว่า เมื่อปี 1999 หวังซิงจิน และ ไช่หุยหยาง เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์มณฑลกุ้ยโจว พบฟอสซิลโครงกระดูกและรังฟักไข่ของซอโรพอด (ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์) จากบรรดาซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในยุคจูแรสซิกตอนต้น (ประมาณ 190 ล้านปีก่อน) ในเขตผิงป้า เมืองอันชุ่น มณฑลกุ้ยโจว โดยทีมวิจัยได้ตั้งชื่อไดโนเสาร์ซอโรพอดตัวใหม่ที่พบนี้ว่า “เฉียนหลง โส่วฮู่” (Qianlong shouhu) โดย “โส่วฮู่” ในภาาษาจีนแปลว่า พิทักษ์หรือปกป้อง สื่อถึงพฤติกรรมการปกป้องทายาทของไดโนเสาร์ชนิดนี้

กลุ่มฟอสซิลไดโนเสาร์ข้างต้น ประกอบด้วยโครงกระดูกไดโนเสาร์โตเต็มวัย 3 ชิ้น และฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ที่ภายในมีตัวอ่อนอยู่จำนวน 5 ชิ้น โดยตัวอย่างฟอสซิลเหล่านี้แสดงถึงลักษณะสำคัญของการสืบพันธุ์ที่แตกต่างออกไป หรือที่เรายังไม่เคยพบมาก่อน จากเหล่าซอโรพอดชนิดอื่นในยุคแรก เช่น ไข่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เปลือกไข่ค่อนข้างหนาและพื้นผิวประกอบขึ้นจากโครงสร้างรูปปีระมิด ตลอดจนเป็นการฟักไข่ในเวลาไล่เลี่ยกัน (synchronous hatching) และมีลักษณะกึ่งกลางระหว่างตัวอ่อนก่อนฟักของจระเข้กับตัวอ่อนก่อนฟักของนกในปัจจุบัน สำคัญที่สุดคือฟอสซิลยุคจูแรสซิกตอนต้นเหล่านี้ เป็นหลักฐานอันชัดเจนของสมมติฐานที่ระบุว่าไข่ไดโนเสาร์ในยุคแรกสุดนั้นเป็นไข่เปลือกเหนียว

“ไข่เปลือกเหนียว” หมายถึงเปลือกไข่ที่มีระดับความแข็งอยู่กึ่งกลางระหว่างไข่เปลือกอ่อนและไข่เปลือกแข็ง มีลักษณะเกือบคล้ายผิวหนัง หากพิจารณาจากความหนาของชั้นแคลเซียมและความหนาของเยื่อหุ้มเปลือก

เพื่อศึกษาวิวัฒนาการด้านวิธีการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลไข่สัตว์เลื้อยคลาน 210 ชนิดจากการศึกษาที่เคยมีมา และนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลไข่สัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจวบจนถึงปัจจุบัน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ไข่ของสัตว์เหล่านี้ ผ่านดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ประเภทของเปลือกไข่ และความหนาของเปลือกไข่

ผลการวิเคราะห์ที่ได้จากฐานข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไข่ไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดคือไข่เปลือกเหนียว ซึ่งแตกต่างไปจากสมมติฐานเรื่องไข่เปลือกนิ่มและไข่เปลือกแข็งที่เคยมีการเสนอในก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าไข่เหล่านี้แรกเริ่มสุดจะมีทรงรี และค่อนข้างเล็ก

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าขนาดของไข่จระเข้ ไดโนเสาร์ และเทอโรซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคดึกดำบรรพ์) มีแนวโน้มใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการ แต่หากมองจากด้านการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาของไข่ ไข่ไดโนเสาร์ในยุคแรกสุดนั้นมีลักษณะเป็นทรงเกือบกลมหรือทรงรี เห็นได้จากไดโนเสาร์เทอโรพอดที่มีแนวโน้มจะเป็นตัวยาวขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาของไข่สัตว์เลื้อยคลานที่น่าทึ่งที่สุด ก่อนที่พวกมันจะวิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ปีก เกิดขึ้นในช่วงต้นของวิวัฒนาการของเทอโรพอด ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงที่นกถือกำเนิด

การวิจัยครั้งใหม่ยังเผยให้เห็นพฤติกรรมของไดโนเสาร์ในยุคแรกอีกมากมาย เช่น การสืบพันธุ์แบบรวมฝูง การฟักไข่ในเวลาไล่เลี่ยกัน และการเปลี่ยนแปลงท่าทางการเดิน เป็นต้น อนึ่ง ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เนชันแนล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) เมื่อไม่นานนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook