เปิดบันทึกเด็กสาวเกาหลี เรื่องราวขมขื่นในฐานะ "นางบำเรอ" ของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

เปิดบันทึกเด็กสาวเกาหลี เรื่องราวขมขื่นในฐานะ "นางบำเรอ" ของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

เปิดบันทึกเด็กสาวเกาหลี เรื่องราวขมขื่นในฐานะ "นางบำเรอ" ของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จนกว่าจะถึงลมหายใจสุดท้าย… บันทึกของ "นางบำเรอ" ในช่วงสงคราม

เธอกลายเป็นคนไม่มีตัวตนในบ้านเกิดของตนเอง – ระหว่างที่เธอถูกฉุดคร่าออกจากเมืองปูซานของเกาหลีใต้ไปยังประเทศจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เธออายุได้เพียง 14 ปี แม่ของเธอเฝ้าตามหา แต่ไม่เคยรู้ข่าวคราวว่าลูกสาวจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร กระทั่งสงครามยุติ แม่ของเธอแจ้งกับทางการว่าเธอเสียชีวิตแล้ว

แต่ลีออกซอน (Lee Ok Seon) เด็กสาวคนนั้นรอดชีวิตมาได้ แม้จะผ่านความทุกข์ทนและสิ้นหวังนานหลายปี และสุดท้ายต้องใช้ชีวิตเป็นหญิงชาวนาในประเทศจีนก็ตาม เธอปิดปากนิ่งเงียบ และพยายามหนีห่างจากเกาหลีใต้บ้านเกิด “ฉันกลัวว่าคนจะอ่านจากใบหน้าฉันออก ว่าฉันเคยผ่านอะไรมาบ้าง” เธอบอก

บางทีลีออกซอนอาจจะปิดปากนิ่งเงียบต่อไปก็ได้ ถ้าหากว่าไม่มีใครออกมาเปิดเผยความปวดร้าวที่ฝังใจนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990s ใครเหล่านั้นคือเด็กสาวและผู้หญิงที่ถูกทหารญี่ปุ่นพรากตัวจากบ้านไปขังตัวในซ่องโสเภณีในค่ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กระทำการข่มขืนและทำร้ายร่างกาย คาดเดากันว่าน่าจะมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวน 30,000-200,000 คน ผู้ถูกบังคับให้เป็นโสเภณีเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘นางบำเรอ’ ถูกฉุดคร่ามาทั้งสิ้นจาก 17 ประเทศ ส่วนใหญ่จากเกาหลี กระทั่งถึงทุกวันนี้ยังมีคำถามคาใจระหว่างกรุงโซลและกรุงโตเกียวว่า ญี่ปุ่นรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างที่ยึดครองเกาหลีเมื่อปี 1910-1945 และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือไม่?

แต่จวบจนบัดนี้ก็ยัง ลีออกซอนยังเรียกร้อง ‘คำขอโทษด้วยความจริงใจ’ จากกรุงโตเกียว รวมทั้งค่าชดเชยสำหรับ ‘นางบำเรอ’ ในอดีต เธอเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิงน้อยคนที่ยังรอดชีวิต และที่ยังเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างเปิดเผยได้ แม้ว่าการต่อสู้ของเธอแทบจะไร้ซึ่งความหวัง เนื่องจากพยานในเหตุการณ์ล้มหายตายจาก อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีก็ไม่สู้ดีนัก

ปัจจุบันลีออกซอนอายุ 91 ปีแล้ว เธอพักอาศัยอยู่ที่ ‘บ้านแห่งการแบ่งปัน’ ทางทิศตะวันตกของเมืองหลวงโซล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นที่พึ่งสุดท้ายของ ‘นางบำเรอ’ หลายคน เมื่อหลายปีก่อนหน้าเธอเคยพยายามที่จะเติมเต็มช่องว่างในชีวิต เธออ่านหนังสือมากขึ้น จากที่ไม่เคยมีโอกาสไปโรงเรียน ในห้องของเธอมีหนังสือวางเต็มชั้นวาง บนโต๊ะข้างเตียงมีรูปปั้นพระแม่มาเรีย เธอบอกว่า ความเชื่อช่วยให้เธอมีชีวิตอยู่ได้

บนผนังห้องมีภาพถ่ายใส่กรอบแขวนประดับ เป็นภาพจากการเดินทางของเธอ ทั้งในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น แม้การเดินทางเริ่มจะยากลำบากมากขึ้น การพูดคุยก็เช่นกัน แต่เธอยังมุ่งมั่นที่จะทำ “ฉันรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่พูดเล่า” เธอบอก “แต่ผู้คนควรจะฟัง”

ผู้คนควรรับฟัง เมื่อเธอพูดเล่าถึงบ่ายวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 1942 ที่เธอถูกผู้ชายร่างใหญ่สองคนหิ้วปีก จับตัวโยนขึ้นไปบนท้ายรถบรรทุก และพาไปขึ้นรถไฟต่อไปยังเมืองเหยียนฉีในประเทศจีน ผู้คนควรรับฟัง เมื่อเธอพูดเล่าถึงเวลากว่าสามปีที่เธอถูกข่มขืนและบำบัดอารมณ์ทางเพศให้กับทหารในค่ายที่เมืองจีน

บางครั้งเด็กสาวก็แขวนคอตัวเอง บางครั้งก็กระโจนไปสู่ความตาย รวมถึงตัวเธอที่บางครั้งก็อยากจบชีวิต แต่เธอตัดใจไม่ขาด เธอยังคิดถึงแม่ “ฉันยังอยากเจอหน้าแม่อีกสักครั้ง”

“ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นแย่พอๆ กับเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว” ชินกัก-ซู (Shin Kak-soo) อดีตทูตเกาหลีใต้กล่าว เขาเคยประจำการอยู่ที่กรุงโตเกียวสองปี และอยู่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2012 สำหรับเกาหลีใต้แล้ว อาเบะเปรียบเสมือนตัวแปร ที่มักปัดความรับผิดชอบของญี่ปุ่น และปฏิเสธความสำนึกผิด

ขณะที่ชินกัก-ซูยังประจำการอยู่ที่กรุงโตเกียว ยังมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะ ซึ่งเกาหลีเรียก ดอกโด และในญี่ปุ่นชื่อ ทาเกชิมะ ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในการครอบครอง ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างไม่มีปัญหาใดที่สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ นอกจากเรื่องราวความเจ็บช้ำที่เคยมีร่วมกันในอดีตเท่านั้น

ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วกรณีพิพาทเริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อศาลฎีกาของเกาหลีใต้ตัดสินให้บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานชาวเกาหลีที่เคยถูกบังคับ ทางฝ่ายญี่ปุ่นแสดงออกถึงความไม่พอใจ พร้อมทั้งข่มขู่ และอ้างถึงข้อตกลงของปี 1965 ที่เคยตัดสินไปแล้ว ประธานาธิบดีมูนแจ-อินของเกาหลีใต้กล่าวหาว่ารัฐบาลญี่ปุ่นทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทางการเมือง และควรจะเจรจากันด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนมากกว่านี้

จากมุมมองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่น เชื่อกันว่ามูนแจ-อินเป็นเพียงผู้นำรัฐบาลอีกคน ที่ขึงขังต่อต้านญี่ปุ่นเพียงเพื่อเรียกร้องคะแนนนิยม ขณะเดียวกันก็มักปฏิเสธการร่วมโต๊ะเจรจา

รวมถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับ ‘นางบำเรอ’ ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อประธานาธิบดีมูนแจ-อินประกาศยุบมูลนิธิในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งที่มันเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงที่โตเกียวและโซลเห็นชอบร่วมกันเมื่อปี 2015 และมีการจ่ายเงินชดเชยร่วม 300 ล้านบาทในเวลานั้น เหยื่อผู้รอดชีวิตอย่างลีออกซุนกลับรู้สึกไม่เห็นชอบกับข้อตกลงนั้น 

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีกลุ่มประท้วงที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลทุกเที่ยงวันพุธ ผู้ประท้วงถือป้ายและชูผีเสื้อที่ทำจากกระดาษแข็งสีเหลือง ร้องเพลงและตะโกนอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงรั้วสูง บางครั้งก็จะมีคนรุ่นย่ารุ่นยายเข้าร่วมกลุ่ม เรียกร้องการชดเชยให้กับเหยื่อ

ชินกัก-ซูมีความเห็นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ควรพยายามหาข้อตกลงกับญี่ปุ่นให้มากกว่านี้ เพื่อประสานความสัมพันธ์ และเพื่อหาข้อสรุปเป็นทางออกให้กับผู้หญิง

ปลายทศวรรษ 1980s ญี่ปุ่นเคยพยายามสานไมตรีกับเกาหลีใต้ อีกทั้งเคยพยายามจะจ่ายเงินชดเชยให้ ทว่าช่วงปลายทศวรรษ 1990s ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้บรรยากาศในประเทศเปลี่ยนไป นากาโนะ โคอิชิ (Nakano Koichi) นักรัฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียวแสดงความเห็นกับสื่อ “รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่จะขอโทษแล้ว แต่มันก็เป็นความจริงเหมือนกันที่ทุกครั้งมักถูกปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม บ้างก็ไปจุดประกายความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ บ้างก็แสดงทัศนะที่ไม่ฉลาด หรือพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุดแล้วญี่ปุ่นนั่นละที่ต้องพยายามต่อไป ในการยอมรับต่อความจริงทางประวัติศาสตร์”

ลีออกซอน บอกว่า เธอจะไปร่วมประท้วงทุกวันพุธต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ร่างกายของเธอยังพอไหว เธอชอบที่จะมีคนรุ่นหนุ่มสาวอยู่รอบกาย หลานสองคนจากเมืองจีนก็มักเดินทางมาเยี่ยมเธอปีละหลายครั้ง หลานที่เธอพูดถึงเป็นลูกๆ ของลูกของสามีคนที่สอง หลังสงครามเธอแต่งงานกับชายเกาหลีที่เมืองจีน เวลาเธอพูดถึงเขา เสียงของเธอจะแผ่วเบา “ฉันรักเขามากเลย” แต่พ่อแม่ของฝ่ายชายก็บังคับให้ทั้งสองต้องหย่าร้างกัน เหตุเพราะลีออกซอนไม่สามารถมีลูกได้ อดีตนางบำเรอหลายคนต้องเป็นหมันจากความป่วยไข้หรือไม่ก็ยาที่ใช้รักษา

สามีคนที่สองของเธอรับรู้เรื่องชะตากรรมของเธอทั้งหมด และพยายามให้กำลังใจ ส่งสมาชิกครอบครัวมาเยี่ยมเธอที่เกาหลีใต้สม่ำเสมอ เวลาล้มตัวลงนอนบนเตียงในห้องพัก ลีออกซอนมักหวนนึกถึงความหลัง เธอมีความทรงจำที่เปี่ยมสุขไม่มากนัก ครั้งที่เธอหวนกลับมาสู่บ้านเกิดที่เกาหลีใต้ตอนอายุ 58 ปี แม่ของเธอก็เสียชีวิตไปนานแล้ว

เธอจะอยู่ต่อสู้เรื่องของเธอต่อไปจนวันตาย ลีออกซอนบอก “นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นควรจะรับรู้ไว้ว่า ฉันยังมีชีวิตอยู่” รวมถึงประโยคที่ว่า “ฉันรู้สึกว่าถึงเวลาที่ฉันจะไปโลกอื่นเสียที”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook