พระประวัติ พระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 โศกนาฏกรรมสู่ตำนานความศักดิ์สิทธิ์

พระประวัติ พระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 โศกนาฏกรรมสู่ตำนานความศักดิ์สิทธิ์

พระประวัติ พระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 โศกนาฏกรรมสู่ตำนานความศักดิ์สิทธิ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีสิ้นพระชนม์ของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน 

พระประวัติ “พระนางเรือล่ม” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวัง

ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ ขณะเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน



เหตุสลดในวันนั้นเล่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้เรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ล่ม เนื่องเพราะเรือพระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถบรมราชชนนี พันปีหลวงแล่นแซง ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เมาเหล้า ขาดสติในการควบคุมเรือ เรือจึงล่ม และทั้งที่พระองค์ก็ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงต้องสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกัน รวมทั้งพระพี่เลี้ยง รวมทั้งสิ้น 4 ศพ ที่จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย 

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

“พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็ได้ตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์”

อนุสรณ์แห่งความรักของในหลวงรัชกาลที่ 5

ความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา นอกเหนือจากการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศลอย่างการหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ สร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลายแห่งที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนสุนันทาลัย อนุสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน อนุสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี และพระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

เรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจแก่ราษฎร โดยเฉพาะเรื่องของความรักและการพลัดพราก ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังใหม่ของวัดกู้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระองค์ ผู้คนที่มาสักการะยังศาลแห่งนี้มักมาด้วยความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถดลบันดาลให้สมความปรารถนาตามแต่ต้องการ พร้อมเสียงร่ำลือถึงอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณสตรีสูงศักดิ์ หรือ เด็กทารก โดยมักจะมีผู้นำดอกกุหลาบสีชมพูไปถวาย เพราะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก

ประวัติ "วัดกู้"

วัดกู้ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด ในซอยปากเกร็ด 3 บริเวณริมน้ำหน้าวัดเป็นจุดที่เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ประสบอุบัติเหตุเรือล่มสิ้นพระชนม์ วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นศิลปะแบบมอญ

ภายในโบสถ์หลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบมอญ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวพุทธประวัติ วิหารประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ ด้านข้างวิหารเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่อับปางซึ่งชาวบ้านได้กู้ขึ้นมา มีพระตำหนักที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ และเมื่อคราวเรือล่มได้อัญเชิญพระศพมาไว้ที่วัดนี้ชั่วคราว มีศาลพระนางเรือล่มซึ่งจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน

อย่างไรก็ตาม วัดกู้ นนทบุรี ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นสถานที่กู้เรือพระศพและเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางวัดได้จัดแสดงเรือโบราณลำหนึ่งในศาลเป็นหลักฐาน (ปัจจุบันศาลหลังนี้ได้ถูกรื้อและบูรณะเป็นศาลหลังใหม่เรียบร้อยแล้ว) ขณะเดียวกันผู้รู้ในท้องถิ่น คุณพิศาล บุญผูก ได้ให้ข้อมูลว่า

“แท้จริงแล้วสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่ทิศ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยงแก้ว”

อีกทั้ง คำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สืบต่อมาและบันทึกพระราชกิจรายวันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุว่า เรือพระที่นั่งล่มลงบริเวณหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง มีการอัญเชิญพระบรมศพและพลิกเรือให้หงายขึ้นในบริเวณนั้น รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์เป็นพระราชอนุสาวรีย์ขึ้นยังตำแหน่งที่เกิดเหตุ มิได้กู้เรือขึ้นไว้บนฝั่งแต่อย่างใด เพราะทำเลวัดอยู่ห่างชายฝั่งมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

แต่จากเอกสาร ข้อเขียน และป้ายแสดงพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ปรากฏอยู่ในวัดกู้หลายแห่ง จึงทำให้มีแนวโน้มว่า มีการกู้ซากเรือขึ้นไว้บนบก รวมทั้งอัญเชิญพระศพขึ้นที่หน้าวัดกู้ แต่หากพิจารณาจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแล้วจะพบว่า เรือพระประเทียบแค่เกยทรายจมลง สามารถกู้และนำกลับพระนครที่แห่งนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้เรือพระประเทียบล่องไปทางวัดกู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ พระประวัติ พระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 โศกนาฏกรรมสู่ตำนานความศักดิ์สิทธิ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook