ประวัติ "หลวงพ่อพัฒน์" วัดห้วยด้วน เกจิดังนครสวรรค์ ศึกษาวิทยาคมตั้งแต่ 13 ขวบ
หลวงพ่อพัฒน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และ เจ้าอาวาสวัดธารทหาร หรือวัดห้วยด้วน ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านความเมตตากรุณา และวิทยาคมแก่กล้า วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกล้วนเป็นที่เสาะหาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
ประวัติ หลวงพ่อพัฒน์
เปิดประวัติ หลวงพ่อพัฒน์ ปุญฺญกาโม มีนามเดิม พัฒน์ ก้อนจันเทศ เกิดเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2465 ที่บ้านสระทะเล ต.ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ บิดา-มารดาชื่อ นายพุฒ และ นางแก้ว ก้อนจันเทศ
ช่วงวัยเด็กของ "หลวงพ่อพัฒน์" ที่บ้านสระทะเลเกิดภัยแล้ง ครอบครัวจึงอพยพไปทำนาที่บ้านหนองเนิน อ.ท่าตะโก และย้ายไปทำนาที่บ้านหนองหลวง อ.ท่าตะโก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หลวงพ่อเดิมสร้างเสนาสนะให้วัดหนองหลวง บิดาจึงได้ไปช่วยหลวงพ่อเดิมสร้างวัด และท่าน ยังร่ำเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งฝึกหัดท่องคาถาสั้นๆ จากหลวงพ่อเดิม และยังได้ศึกษาภาษาไทย ภาษาขอม จากหลวงตาน้อย ฝึกหัดนั่งสมาธิกับหลวงพ่ออิน
เมื่อหลวงพ่อพัฒน์ อายุ 13 ปี จึงเดินทางกลับมาเรียนหนังสือจนจบชั้น ป.4 ที่วัดสระทะเล อ.พยุหะคีรี โดยไปอยู่กับหลวงลุง ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ระหว่างไปอยู่ที่วัดหนองหลวงและวัดสระทะเลได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อเทศด้วย
พออายุครบเกณฑ์ทหารถูกคัดเลือกเข้าไปเป็นทหารกองประจำการ แต่ขณะที่จะหมดวาระปลดจากทหารเกณฑ์ กลับเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ขึ้นเสียก่อน จึงทำให้ต้องเป็นทหารต่อไปจนอายุ 24 ปี ปลดประจำการเมื่อปี พ.ศ.2489 ระหว่างที่เป็นทหารอยู่นั้น พลทหารพัฒน์ได้ใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาคุ้มครองป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้พลทหารพัฒน์รอดพ้นจากภัยสงครามมาอย่างปลอดภัยจากนั้น หลวงพ่อพัฒน์ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2489 ที่อุโบสถ วัดสระทะเล ต.ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงพ่อยอด) วัดเขาแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และพระอธิการชั้ว วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ปุญฺญกาโม"
หลังบวชท่านเริ่มเรียนนักธรรมตรีและโทไปได้สักระยะ ระหว่างนั้นหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้ไปสร้างเสนาสนะและโบสถ์อยู่ที่วัดอินทราราม (วัดของหลวงพ่อแก้ว พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเดิม) หลวงพ่อพัฒน์ ได้ไปเรียนกรรมฐานและพุทธาคมกับท่าน โดยหลวงพ่อเดิมให้ไปจำวัดอยู่กับหลวงพ่อกันที่วัดเขาแก้วซึ่งอยู่ติดกัน เพราะขณะนั้นวัดอินทรารามกำลังซ่อมสร้างเสนาสนะอยู่จึงไม่สะดวกในการพัก ท่านจึงต้องเดินไปเช้าเย็นกลับระหว่างวัดทั้งสอง เรียนวิชาอยู่เกือบสองพรรษาจึงจบ
จากนั้น หลวงพ่อพัฒน์ ได้ออกธุดงค์ไปเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อชุบ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ และรับตำแหน่งเจ้าอาวาสรวมเป็นเวลา 6 ปี จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสระทะเล ขณะนั้นโยมพ่อโยมแม่ย้ายมาซื้อที่ดินทำนาอยู่แถวบ้านห้วยด้วน (ธารทหาร) เมื่อกำนันตำบลธารทหารทราบเรื่องจึงพาโยมทั้งสองมาอาราธนาท่านให้มาช่วยพัฒนาวัด หลวงพ่อพัฒน์ก็ตอบตกลงและย้ายมาอยู่วัดธารทหาร(ห้วยด้วน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมาโดยไม่ย้ายไปอยู่วัดอื่นเลย โดยท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธารทหาร ในปี พ.ศ. 2564 ท่านได้รับพระราชทานพัดรองที่ระลึกงานบรมราชาภิเษกด้วยความที่เป็นพระเกจิชื่อดัง จึงเริ่มมีชื่อเสียงอยู่ในศรัทธาของญาติโยมในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจึงมีญาติโยมเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่เข้มขลัง เสริมความเป็นสิริมงคลที่วัดอย่างไม่ขาดสาย
ด้านวัตถุมงคลจัดสร้างมอบให้ผู้ที่ร่วมทำบุญ ทุกรุ่นเป็นที่ยอมรับของบรรดาเซียนพระและนักสะสม กล่าวได้ว่า เป็นพระเกจิชั้นแนวหน้าอีกรูป มีงานพุทธาภิเษก ปลุกเสกพระเครื่องรุ่นต่างๆ ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องเป็นประจำ
หลวงพ่อพัฒน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ ชาว จ.นครสวรรค์ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความเมตตาสูง ส่วนใหญ่จะรู้จักท่านเรื่องการสร้างวัตถุมงคล มีประชาชนและลูกศิษย์เลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้มาขอให้หลวงพ่อพัฒน์ปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ และถวายเงินแด่หลวงพ่อพัฒน์เป็นเงินปีละกว่าร้อยล้านบาท หลวงพ่อพัฒน์จะนำเงินที่ได้รับถวาย ใช้ในการทำนุบำรุงศาสนา และให้หน่วยงานที่เข้ามาขอความช่วยเหลือเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น วัด โรงพยาบาล และโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก โดยไม่ได้นำเงินไปใช้ในทางส่วนตัว
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน ถูกกลุ่มไวยาวัจกรวัด ทุจริตเงินวัดกว่า 60 ล้านบาท จนเกิดเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินวัด ที่ไม่โปร่งใส ทำให้คณะศิษย์ เข้าแจ้งความกองปราบปราม จนกระทั่งสามารถติดตามเงินมาคืนได้ ส่วนกลุ่มไวยาวัจกรวัด ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฉ้อโกง
หลวงพ่อพัฒน์ มรณภาพ วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 01.35 น. ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยอาการอันสงบ สิริอายุ 101 ปี บวช 77 พรรษา
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
- (ไม่ทราบ พ.ศ.) – เจ้าอาวาสวัดธารทหาร ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ. 2526 – เจ้าคณะตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ. 2545 – ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ฝ่ายมหานิกาย
สมณศักดิ์
- พ.ศ. 2505 เป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ที่ “พระครูพัฒน์ ปุญฺญกาโม”
- พ.ศ. 2526 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ที่ “พระครูนิวิฐปุญญากร”
- พ.ศ. 2543 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2545 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
- 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชมงคลวัชราจารย์ ไพศาลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”