ประวัติ "หลวงปู่หา สุภโร" พระอริยเจ้าแห่งแดนอีสาน เกจิดังผู้เปิดโลกไดโนเสาร์

ประวัติ "หลวงปู่หา สุภโร" พระอริยเจ้าแห่งแดนอีสาน เกจิดังผู้เปิดโลกไดโนเสาร์

ประวัติ "หลวงปู่หา สุภโร" พระอริยเจ้าแห่งแดนอีสาน เกจิดังผู้เปิดโลกไดโนเสาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(24 พ.ย.2566) สิ้นแล้วเกจิดัง หลวงปู่หา สุภโร หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์แห่งเมืองน้ำดำ สิริอายุ 99 ปี อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สุดยอดพระอภิญญาผู้เปิดโลกไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประวัติ หลวงปู่หา สุภโร หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์

พระเทพมงคลวชิรมุนี,วิ. (หลวงปู่หา สุภโร) ท่านมีนามเดิมว่า หา นามสกุลภูบุตตะ เกิดวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีฉลู ที่บ้านนาเชือก ตำบลเว่อ (ปัจจุบันเป็นตำบลนาเชือก) อำเภอยางตลาด (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จังหวัดกาฬสินธุ์ บิดาชื่อ นายสอ ภูบุตตะ มารดาชื่อ นางบัวลา ภูบุตตะ มีพี่น้องรวมกัน 7 ท่าน

ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุย่างเข้า 21ปี ที่สิมน้ำ (อุทกุกเขปสีมา) ณ วัดสว่างนิวรณ์นาแก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีหลวงปู่ลือ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดมหานิกาย เมื่อท่านบวชแล้วก็มาอยู่ที่วัดนาเชือกใต้ (วัดสุวรรณชัยศรี ปัจจุบัน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. 2489 ขณะนั้นที่นั่นการปกครองในคณะสงฆ์ยังไม่ทั่วถึงมากนัก การบวชของคณะธรรมยุติกนิกายและคณะมหานิกายยังไม่มีการแยกจากกัน ยังคงใช้พระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2490 ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศว่า พระอุปัชฌาย์สังกัดนิกายอะไรผู้บวชก็ต้องสังกัดนิกายนั้น พระครูประสิทธิ์สมณญาณ จนฺโทปโม (หลวงปู่โสม) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี (ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สมัยท่านจำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านจึงได้ขึ้นไปอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ของคณะธรรมยุติกนิกาย

ต่อมาเมื่อท่านอายุ 22ปี ทำทัฬหีกรรมเป็นพระภิกษุสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ที่สิมน้ำ (อุทกุกเขปสีมา) ณ วัดบ้านหนองโจด (ปัจจุบันเป็นที่นาชาวบ้าน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อ วันที่ 21 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 13.00 น. โดยมีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปลัดอ่อน ขนฺติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระทองสุข เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายา ว่า “สุภโร” แปลว่า “ผู้เลี้ยงง่าย”

เมื่อท่านยังเป็นพระนวกะ (ผู้บวชใหม่) ปี พ.ศ. 2494 ได้จำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรี จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี และ ในปีพ.ศ. 2495 สอบได้นักธรรมชั้นโทที่วัดขวัญเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ และในปีพ.ศ. 2497 ได้มีโอกาสศึกษาต่อที่วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก ท่านได้มีโอกาสอุปัฏฐากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) และด้วยความที่ท่านมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ท่านจะเรียนบาลีเป็นประจำทุกวัน เมื่อเว้นว่างจากการเรียนบาลีแล้ว ท่านก็จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปเรียนกรรมฐานจากพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล และพระสุทธิธรรมรังสี (ลี ธมฺมธโร) ที่วัดบรมนิวาส

อาพาธด้วยโรคดีซ่าน

เมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคดีซ่าน การเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติจึงได้ระงับไว้ก่อน เมื่ออาการหนักมากจนถึงขั้นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ นานถึง 3 เดือน โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาย หรือดีขึ้นเลย ท่านจึงทอดอาลัยในชีวิต แล้วตั้งความปรารถนาขอใช้ชีวิตที่เหลือในการรับใช้พระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก โดยท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) ว่า “หากข้าพเจ้าจะมีชีวิตในการบวช ขอให้โรคหาย ถ้าหากจะไม่มีชีวิตแล้ว ขอให้ตายกับผ้าเหลือง” ท่านมีความคิดว่าหากได้บวชอยู่นาน ๆ จะได้ทำประโยชน์ในพระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก จากนั้นท่านจึงเดินทางกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อตั้งต้นดำเนินภารกิจดังที่ตั้งปณิธานไว้ และได้ตั้งสัตยาธิษฐานอีกครั้งหนึ่งว่า “ขอให้ได้อยู่ป่าทำความสงบสบายทางจิต”

ด้วยอานิสงส์แห่งการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา ในขณะนั้นท่านก็ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน และการอบรมทางใจจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเข้าช่วยเหลือ จึงเป็นผลให้อาการของโรคทุเลาลงจนหายขาดในที่สุด เมื่อหายเป็นปกติแล้วท่านจึงออกเที่ยวปฏิบัติรุกขมูล หาความวิเวกทางกายและใจออกธุดงค์ไปยังภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยแทบทุกจังหวัด ไปทุกมุมเมืองในภาคอีสาน และข้ามไปยังฝั่งลาว ไปถึงนครเวียงจันทน์ถึงสองครั้ง เข้ากัมพูชา จนเห็นผลทางจิตอันแน่นอนแล้ว ท่านจึงกลับมาช่วยงานพระศาสนาดังปฐมปณิธาน

หลวงปู่ผู้เปิดโลกไดโนเสาร์

เมื่อปี พ.ศ.2510 ได้พัฒนา วัดสักกะวัน โดยการสร้างอุโบสถ วิหาร และตัดถนนรอบวัดจำนวน 5 สาย รวมทั้งก่อสร้างเมรุเผาศพ ก่อนจะนอนหลับฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาวเดินอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว  ซึ่งตื่นขึ้นจึงให้ลูกศิษย์ไปตรวจสอบพื้นที่ ดังกล่าว ขณะนั้นฝนตกหนัก พื้นดินสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นกระดูกชิ้นใหญ่หลายสิบชิ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปจึงสั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อตรวจสอบ

กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2537 เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาตรวจสอบบริเวณร่องน้ำ ข้างถนนเชิงเขาภูกุ้มข้าว ขุดพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ จากการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา ภายหลังตั้งชื่อว่า อีสานโนซอรัสสิรินธรเน่ และมีการขอขุดค้นเพิ่มเติม ปัจจุบันคือ “อาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร” เพื่อเป็นอนุสรณ์

อีกทั้งยังมีการรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสารทิศมารวมที่วัดสักกะวัน และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปี ได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร”ในปัจุบัน

ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์

  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ชั้น เอก โท ตรี
  • เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงในคณะธรรมยุติภาคอีสาน
  • พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าคณะตำบล (ธ) ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2502 เป็นเจ้าคณะอำเภอ (ธ) ปกครอง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอท่าคันโท
  • พ.ศ. 2539 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)
  • พ.ศ. 2548 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ

 

รางวัลพิเศษ

  • พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานรางวัลบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาดีเด่น “เสมาธรรมจักรทองคำ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2537 วัดสักกะวัน ภูกุ้มข้าว ได้โล่รางวัล วัดพัฒนาตัวอย่างจากสมเด็จพระสังฆราช
  • พ.ศ. 2546 ได้รับการถวายโล่การค้นพบไดโนเสาร์จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) มรณภาพเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.52 น. ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 98 ปี พรรษา 77

 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ประวัติ "หลวงปู่หา สุภโร" พระอริยเจ้าแห่งแดนอีสาน เกจิดังผู้เปิดโลกไดโนเสาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook