สส.โรม แนะ "กระดุม 5 เม็ด" ปฏิรูปตำรวจไทย นายกฯ ต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้าร่วมอุปถัมภ์
รังสิมันต์แนะ "กระดุม 5 เม็ด" หยุดระบบอุปถัมภ์และปฏิรูปตำรวจไทย ชี้ นายกฯ ต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้าร่วม
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำการพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข้อเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปวงการตำรวจไทย ในประเด็น ‘Policy Watch: หยุดระบบตั๋วและปฏิรูปตำรวจไทย’ เพื่อให้ตำรวจเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ และตำรวจน้ำดีสามารถยืนหยัดทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปวงการตำรวจอย่างจริงจัง โดยระบุถึง ‘กระดุม 5 เม็ด’ หรือแนวทางในการแก้ไข 5 ข้อ ดังนี้
1. การเลือกผู้บัญชาการตำรวจ (ผบ.ตร.) ต้องมาจากความสามารถ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ขององค์กรตำรวจ โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
– รอง ผบ.ตร.ที่ต้องการเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ต้องสมัครเข้ามาพร้อมแฟ้มผลงานที่สามารถระบุได้ว่า เคยทำงานอะไรมาบ้าง เพื่อให้กรรมการสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า รอง ผบ.ตร.คนใดมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำคนต่อไป
– ผู้สมัคร ผบ.ตร.ต้องแสดงวิสัยทัศน์
– สร้างช่องทางออนไลน์แบบไม่ระบุตัวตน เพื่อให้ตำรวจเข้ามาโหวตเลือก ผบ.ตร. และนำผลมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนน เพื่อเป็นการสะท้อนเสียงว่าใครเป็นคนที่ตำรวจส่วนใหญ่เลือก
ทั้งนี้ รังสิมันต์ระบุว่า ขั้นตอนดังกล่าวสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ตำรวจ)
จังหวัดและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตำรวจในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อเป็นการตัดสินใจร่วมกัน พร้อมกันนั้น ประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่า ตำรวจที่จะย้ายเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่มีคุณภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การทำงานปราบอาชญากรรม เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์หรือปัญหายาเสพติด แต่ข้อเสนอแนะข้อนี้ต้องแก้ไขที่ พ.ร.บ.ตำรวจ
2. จังหวัดและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตำรวจในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อเป็นการตัดสินใจร่วมกัน พร้อมกันนั้น ประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่า ตำรวจที่จะย้ายเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่มีคุณภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การทำงานปราบอาชญากรรม เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์หรือปัญหายาเสพติด แต่ข้อเสนอแนะข้อนี้ต้องแก้ไขที่ พ.ร.บ.ตำรวจ
3. นายกรัฐมนตรีต้องไม่ทำให้ตำรวจ ‘หิว’ กล่าวคือ อย่าให้ตำรวจไปหาเงินเองเพื่อความอิ่มท้องและความสุขสบายของครอบครัว เพราะปัญหาในวงการตำรวจอย่างหนึ่ง คือตำรวจชั้นผู้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ต้องออกเงินเองหลายครั้งเพื่อการปฏิบัติงาน เช่น ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถเอง ดังนั้น ต้องปรับส่วนนี้ให้คุณภาพชีวิตของตำรวจดีขึ้น โดยขั้นต่ำที่สุดคือต้องสนับสนุนอุปกรณ์การทำงานให้เพียงพอ ผ่านการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม
4. รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ตำรวจชั้นประทวน ได้แก่ ตำรวจยศสิบตำรวจตรี, สิบตำรวจโท, สิบตำรวจเอก, จ่าสิบตำรวจ และดาบตำรวจ มีโอกาสในการเติบโตที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและเรียนจบระดับปริญญาตรี รวมถึงหลังเรียนจบก็ควรให้โอกาสในการทำงานเป็นตำรวจชั้นที่สูงขึ้น
5. รัฐบาลต้องเลิกให้ตำรวจทำสิ่งที่ไม่จำเป็น ลดภาระของตำรวจ เช่น ภาระงานเอกสาร หรือภาระตำรวจติดตามที่ต้องเกณฑ์เจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยให้ตำรวจกลับมาให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
ส.ส.พรรคก้าวไกลระบุว่า แนวทางทั้งหมดนี้ไม่สงวนว่าต้องเป็นพรรคก้าวไกลทำเท่านั้น หากแต่หน่วยงานหรือองค์กรใดที่เกี่ยวข้องอยากนำไปปรับแก้ไขก็ยินดี เพื่อแก้ต้นตอปัญหาที่ฝังรากหยั่งลึกในวงการตำรวจไทยมานาน ทั้งปัญหาการใช้เส้นสาย ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งที่ต้องใช้เงิน ปัญหาหลักสูตรการอบรมข้าราชการตำรวจ และบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) ที่เป็นการเปิดช่องให้เติบโตในวงการตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ปัญหาตั๋วตำรวจ’ ที่ได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง
“ผมยอมรับว่ากระดุมทั้งห้าเม็ด ต้องใช้เวลา อาจยังไม่สามารถทำได้ในปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าเราไม่เริ่มลงมืออะไรเลย ตำรวจก็จะเป็นแบบนี้ต่อ แล้วคำถามคือประชาชนได้อะไร ปัญหาขององค์กรตำรวจ ไม่ใช่ปัญหาของแค่เฉพาะตำรวจสองแสนคนในประเทศ และครอบครัวของพวกเขา แต่เป็นปัญหาของพวกเราทั้งหมด ทุกวันนี้เวลาพี่น้องประชาชนเดือดร้อน หากอยากให้คดีคืบหน้า คุณต้องพึ่งพาสื่อโซเชียลฯ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีปากมีเสียง เพราะมิฉะนั้น คดีความจะไม่ได้รับการตอบสนองและแก้ไข เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ เหรอครับ
นายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) เคยประกาศในเวทีตอนหาเสียงว่า ระบบเส้นสายเช่นนี้ต้อง ‘ถูกจัดการ’ แต่ในวันนี้ เรากลับเห็นคำพูดอย่างเป็นธรรมชาติจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ในวงการตำรวจ ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า ระบบอุปถัมภ์ในองค์กรตำรวจไม่ได้หมดไป และที่สำคัญกลับออกมาจากปากของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ส.ส.พรรคตัวเองอย่างไม่รู้สึกผิด และแม้เมื่อพูดแบบนั้นแล้ว วันต่อมา คำชี้แจงคำอธิบายก็ไม่ได้สะท้อนถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่า สิ่งที่ตัวเองพูดไปกลับเป็นการสะท้อนถึงระบบอุปถัมภ์ คนที่มีอำนาจอย่างนายกรัฐมนตรีควรต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้าร่วมกับปัญหา เราไม่เห็นความรู้สึกผิดของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเลยเสียด้วยซ้ำ
พูดตามตรง ผมคงไม่หวังกับรัฐบาลนี้แล้วในการแก้ปัญหาตำรวจ เพราะผมรู้สึกว่าหากเราจะแก้ปัญหากันจริงๆ สิ่งแรกที่เราต้องมี คือเจตจำนง ถ้าคุณไม่มีเจตจำนงที่จะแก้ปัญหา ปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ต้น มันไม่มีทางหรอกครับที่จะแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจได้” รังสิมันต์ระบุทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 42 ภาพ