เปิด 5 รายชื่อ อดีตนายกฯ ไทย ที่ได้เป็น "องคมนตรี"
เป็นประเด็นฮือฮาในโลกโซเชียลทันที หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำคณะรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เป็น “องคมนตรี” และทำให้ชื่อของพลเอกประยุทธ์ที่ค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง
- ด่วน! พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นองคมนตรี
- "องคมนตรี" คือใคร มีหน้าที่อะไร และทำงานเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไร
ทว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ใชอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี แต่ประเทศไทยมีอดีตนายกฯ 5 คนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี และวันนี้ Sanook จะพาไปเปิด 5 รายชื่ออดีตนายกฯ ที่เข้ามารับหน้าที่ทำงานใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากขึ้น หลังลงจากตำแหน่งทางการเมือง
สัญญา ธรรมศักดิ์
สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองชาวไทย ที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 (เหตุการณ์ 14 ตุลา) หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
สัญญาได้รับโปรดเกล้าฯ แตง่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2511 กระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ต่อมาหลังจากสัญญาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว เขาก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีอีกครั้ง ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี จนถึงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2541 จึงพ้นจากตำแหน่งประธานองคมนตรี โดยขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนักการเมืองและนายทหารชาวไทย โดยเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 42, 43 , และ 44 ทั้งยังร่วมทำรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง คือในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520
หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ในปี พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี จากนั้นในปี พ.ศ.2541 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 14 ของประเทศไทย ภายหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยการนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ที่ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยระหว่างที่ธานินทร์ดำรงตำแหน่งนายกฯ เขามีนโยบายโดดเด่นเรื่องการต่อต้านภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ นับเป็นรัฐบาลเผด็จการพลเรือนที่ใช้อำนาจจัดการประชาชนในข้อหาคอมมิวนิสต์ จนประชาชนส่วนหนึ่งหนีเข้าป่า
ธานินทร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนายกฯ ที่ซื่อสัตย์สุจริตที่สุดคนหนึ่งของไทย ภายหลังจากที่คณะรัฐประการได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของธานินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าญ แต่งตั้งให้ธานินทร์เป็นองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล ก่อนที่เขาจะได้รับหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายทหารบกและนักการเมืองชาวไทย เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ของไทย จากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549
ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และองคมนตรี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้าจะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ พลเอกประยุทธ์คือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก่อรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จนถึงวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ.2562 จากนั้น พลเอกประยุทธ์ก็ได้รับรับการลงมติเลือกให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ.2562 จนถึง ปี พ.ศ.2566 ก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะประกาศวางมือทางการเมืองไป
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งองคมนตรี