"การขอพระราชทานอภัยโทษ" คืออะไร และมีวิธีการขั้นตอนอย่างไรบ้าง

"การขอพระราชทานอภัยโทษ" คืออะไร และมีวิธีการขั้นตอนอย่างไรบ้าง

"การขอพระราชทานอภัยโทษ" คืออะไร และมีวิธีการขั้นตอนอย่างไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมอบตัวต่อสู้คดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีข่าวหลุดออกมาทันทีว่าทักษิณได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา อย่างไรก็ตาม หลังเดินทางเข้าสู่เรือนจำได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ถูกนำตัวไปรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ครบ 100 วันแล้ว แล้วก็มีข่าวหลุดออกมาอีกครั้งว่าทักษิณอาจจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันที่ 5 ธันวาคมนี้

Sanook พาไปทำความรู้จักและเปิดขั้นตอน “การขอพระราชทานอภัยโทษ” ที่ทักษิณอาจได้รับเร็วๆ นี้

“การขอพระราชทานอภัยโทษ” คืออะไร

การขอพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องขังทุกคนที่ต้องโทษประหาร หรือโทษจำคุกคดีที่ถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่นักโทษที่รับโทษทางอาญา ให้ได้รับการยกโทษหรือเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษทั้งหมดหรือบางส่วน

การพระราชทานอภัยโทษอาจแยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ

  • การพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย คือการพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ​ถวายเรื่องราวหรือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ 
  • การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป คือการที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเด็ดขาดทุกคน โดนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางราชการจะเป็นผู้ดำเนินการให้แก่ผู้ต้องโทษทุกขั้นตอน มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย

ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้วและผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง (เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ ​หรือสถานทูต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะยื่นผ่านหน่วยงานใด ก็จะต้องส่งเรื่องให้เรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษ ดำเนินการสอบสวนและรวมรวมเอกสารทุกกรณี จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอคำร้องสามารถทำได้ตั้งแต่ทราบผลคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2 เดือน และหลักฐานที่ต้องใช้ในการขอพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ 

  • สำเนาคำพิพากษาทุกชั้นศาลที่ปรากฏและรับรองสำเนาถูกต้องโดยจ่าศาล
  • บันทึกความเห็นแพทย์หรือจิตแพทย์ กรณีนักโทษอ้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ
  • เอกสารประกอบอื่นๆ เช่น หนังสือรับรองความประพฤติจากผู้นำชุมชนหรือเจ้าหน้าที่, เอกสารประกอบคุณงามความดีตามที่ได้อ้าง, หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ต้องขังและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษนั้น หากถูกยกฎีกา ผู้ต้องขังต้องรอเวลาอีก 2 ปี จึงจะสามารถยื่นฎีกาได้อีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook