สรุปข่าว "ดร.เค็ง" เมื่ออาการป่วยทางใจส่งผลต่อชีวิต และปัญหาจิตเวชในนักศึกษา ป.โท-เอก

สรุปข่าว "ดร.เค็ง" เมื่ออาการป่วยทางใจส่งผลต่อชีวิต และปัญหาจิตเวชในนักศึกษา ป.โท-เอก

สรุปข่าว "ดร.เค็ง" เมื่ออาการป่วยทางใจส่งผลต่อชีวิต และปัญหาจิตเวชในนักศึกษา ป.โท-เอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ชาวเน็ตพูดคุยถกเถียงกันอย่างมากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้โพสต์ประเด็นของ “ดร.เค็ง” อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ป่วยจิตเวช ขณะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ และอาการป่วยกำเริบเมื่อต้องทำงานใช้ทุน ส่งผลให้เธอไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนต้องลาออกจากงานและถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายนับ 10 ล้านบาท

เรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก พร้อมความพยายามที่จะหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร Sanook สรุปข่าว “ดร.เค็ง” มาฝากคนที่อาจจะพลาดไป พร้อมพาไปดูปัญหาจิตเวชในหมู่นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่ทุกคนช่วยกันแก้ไขได้

“ดร.เค็ง” คือใคร

บก.ลายจุด ได้โพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวของ “ดร.เค็ง” ระบุว่าเธอเป็นลูกสาวคนที่ 8 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คนของครอบครัวคนจีน ซึ่งมีฐานะค่อนข้างยากจน เธอเป็นคนเดียวในบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก ด้วยการทำงานส่งเสียจากพี่ๆ และด้วยทุนจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ดร.เค็งป่วยด้วยโรคจิตเวช แต่เธอก็ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล จนอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาเรียนจนจบปริญญาเอกได้สำเร็จ

หลังจาก ดร.เค็ง กลับมาทำงานใช้ทุน อาการป่วยของเธอก็กำเริบอีกครั้งและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ดร.เค็งจึงเขียนข้อความลาออกในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน ทำให้มหาวิทยาลัยฟ้องเรียกเงินชดเชยทุนเป็นเงินนับ 10 ล้าน

“ดร.เค็ง ไม่รู้เลยว่าการเจ็บป่วยของเธอนั้นจะนำไปสู่ความยุ่งยากถึงขนาดนี้ เธอเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิมๆ อยู่เป็นปี เธอป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ กว่าเธอจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้นแล้วเธอยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องจนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายและทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุนได้รับความเดือนร้อนไปด้วย” 

ดร.เค็งต่อสู้คดีโดยลำพัง แต่ก็แพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการอุธรณ์ อย่างไรก็ตาม ดร.เค็ง ก็ได้รับโอกาสให้กลับเข้าทำงานกับมูลนิธิแห่งหนึ่งภายใต้หน่วยงานรัฐ​ ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบสิบปีของเธอ

โลกโซเชียลแห่ส่งกำลังใจ

หลังโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ชาวเน็ตมากมายก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมกันส่งกำลังใจให้กับ ดร.เค็ง อย่างล้นหลาม ขณะที่บางส่วนก็พยายามจะให้ความช่วยเหลือ ดร.เค็ง อย่างเต็มที่ โดย บก.ลายจุด ก็ได้ตอบคอมเมนต์ว่า เขาได้แจ้งให้เธอมาเลือกเสื้อผ้า รองเท้า และสิ่งของจำเป็นที่จะใช้ในการกลับเข้าสู่สังคมคนทำงานอีกครั้ง ซึ่ง ดร.เค็ง ก็ได้แวะไปที่มูลนิธิกระจกเงาเพื่อเลือกสิ่งของจำเป็นจำนวนหนึ่ง พร้อมกันนั้น บก.ลายจุด ยังได้โอนเงินสำหรับวันเริ่มงานของเธออีกด้วย 

ด้านสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ก็ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า 

“ปัจจุบัน ดร.เค็ง หายดีแล้ว เธอทำงานเป็นผู้ช่วยของผม ส่วนคดีฟ้องร้องและเงื่อนไขการใช้ทุนคากว่าน่าจะจบเร็วๆ นี้ เพราะเธอเริ่มทำงานได้เหมือนคนปกติ”

ขณะที่ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ดร.เค็งได้ส่งข้อความหา ซึ่งพอได้ทราบเรื่อง ก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และนำมาสู่การที่คณะกรรมาธิการฯ จะเชิญผู้ร้องและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในวันที่ 14 ธ.ค. นี้

ดร.เค็ง ร่วมรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ”

ช่วงเช้าของวันนี้ (4 ธ.ค. 66) ดร.เค็งได้มาเป็นแขกรับเชิญในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” เล่าเรื่องราวการป่วยด้วยโรคจิตเวชของตัวเอง ขณะเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และอาการป่วยกำเริบขณะทำงานใช้ทุนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนต้องลาออก และถูกมหาวิทยาลัยฟ้องร้อง

ด้านบก.ลายจุด ก็ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กส่วนตัว เล่าเรื่องราวของ ดร.เค็ง เพิ่มเติมจากโพสต์ก่อนหน้า ระบุว่า ดร.เค็งมีอาการเครียดจากการปรับตัวเข้าสู่สัคงในอังกฤษ โดยเริ่มพบจิตแพทย์ตั้งแต่ปี 2551 และอาการหนักยิ่งขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย 

“พีสาวคนโตของเธออยู่ในเหตุการณ์เสื้อแดงวัดปทุมและนี่ทำให้เธอเป็นห่วงพี่สาวและติดตามการเมืองไทยอย่างเข้มข้น ไม่กี่เดือนต่อมาเธอเดินทางกลับมาเยี่ยมพี่สาวที่เมืองไทย และเมื่อกลับไปเรียนต่อที่อังกฤษสุขภาพจิตของเธอก็เข้าสู่วิกฤติในปี 54 เธอมีอาการหูแว่วและจิตเวชเต็มรูปแบบ จนต้องมี จนท บุกเข้าไปที่ห้องพักเพื่อนำตัวเธอไปรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชเกือบเดือน่(มีเอกสารเป็นภาษาอังกฤษรับรองอาการป่วยจาก รพ.จิตเวช) จนสามารถรักษาและกลับมาเรียนหนังสือจนจบ ป.เอก ในที่สุด” 

บก.ลายจุดยังได้ขอบคุณมิตรสหายที่ส่งข้อความเสนอความช่วยเหลือ พร้อมเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่การพูดคุย เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหานี้ต่อไป

นักศึกษาปริญญาโท - เอก เสี่ยงซึมเศร้าสูง

สำนักข่าว The Matter รายงานการวิจัยจาก University of Texas Health Science Center ซึ่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,300 กลุ่มตัวอย่าง จากทั้งหมด 26 ประเทศ พบว่านักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล มากกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า 

อาการป่วยจิตเวชอาจไม่ใช่อาการป่วยที่มองเห็นได้ด้วยสายตา แต่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจและการไม่ตัดสินตีตรา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้กำลังเผชิญหน้ากับภาวะป่วยไข้ทางใจ ขณะที่ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเจ็บปวดจากอาการทางใจ ก็จะเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะการขอความช่วยเหลือไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนอ่อนแอ

สำหรับนักศึกษาปริญญาโท-เอก หรือใครก็ตาม ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต หรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อไปที่ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิตได้ หรือที่เบอร์ 02-113-6789 สายด่วนคลายทุกข์ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (12.00 น. - 22.00 น.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook