คริสต์มาสแบบเยอรมันๆ ธรรมเนียมปฏิทินจุติ และการโค่นสนฉลองแบบ One-Night-Stand

คริสต์มาสแบบเยอรมันๆ ธรรมเนียมปฏิทินจุติ และการโค่นสนฉลองแบบ One-Night-Stand

คริสต์มาสแบบเยอรมันๆ ธรรมเนียมปฏิทินจุติ และการโค่นสนฉลองแบบ One-Night-Stand
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ในยุคปัจจุบัน ชาวเยอรมันที่นับถือศาสนาคริสต์จะค่อยๆ ถอยตัวออกห่างจากโบสถ์ หรือหมดความเชื่อในพระเจ้าเกือบถึงครึ่งของจำนวนประชากร แต่ชาวเยอรมนีเป็นหนึ่งชนชาติในยุโรปที่สนใจเทศกาลคริสต์มาส

เมื่อไหร่ที่บรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสเวียนมาบรรจบ บรรยากาศเก่าๆ เดิมๆ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่รุ่นทวดก็หวนกลับมาให้สัมผัส ทำให้อยากเฉลิมฉลอง มีการเตรียมของขวัญกันตั้งแต่เริ่มปฏิทินจุติ (Advent Calendar) และเมื่อเริ่มใกล้วันเทศกาล ก็จะพากันซื้อหาต้นสนคริสต์มาส สิ่งของประดับ อาหาร-เครื่องดื่ม ไปจนถึงของขวัญที่เป็นชิ้นเป็นอันอีกรอบ

ยิ่งใกล้วันเทศกาลเท่าไร ความพลุกพล่าน ลุกลี้ลุกลนของผู้คนจะยิ่งมากขึ้น ต้องซื้อหาข้าวของทุกอย่างให้ทันเวลา เพราะห้างร้านในเยอรมนีไม่ได้เปิดขายกันจนดึกดื่นหรือตลอดคืนเหมือนในโลกตะวันออก ใครที่พลาดคือคนที่ล้มเหลวกับการรอคอยมาตลอดทั้งปี!

และเมื่อพ้นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองไปแล้ว ยังมีความโกลาหลให้ต้องเผชิญอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเก็บกวาด (ซากต้นคริสต์มาส) รวมถึงการนำของขวัญที่ไม่ถูกใจ ไม่ถูกสเปก ไปแลกเปลี่ยนหรือแลกคืนกับทางร้านค้า ถึงตอนนั้นชาวเยอรมันจะบ่นอุบอิบ แล้วก็ลืม จนกว่าคริสต์มาสของปีหน้าจะเวียนมาถึงอีกครั้ง

Advent Calendar – ปฏิทินจุติ

ปฏิทินจุติที่เป็นกล่อง มีช่องประตู 24 ช่อง ซ่อนของขวัญชิ้นเล็กชิ้นน้อยไว้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมชมชอบกันทั่วทั้งเยอรมนี ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเยอรมันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ในหมู่นิกายโปรเตสแตนต์

ล่วงถึงศตวรรษที่ 16 เด็กๆ เคยได้รับของขวัญกันในวันนักบุญนิโคลัส (6 ธันวาคมของทุกปี) กระทั่งมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ปฏิเสธที่จะนมัสการนักบุญผู้นี้ ประเพณีดั้งเดิมจึงเปลี่ยนไป ตั้งแต่นั้นมาการมอบของขวัญจะกระทำกันเฉพาะในวันคริสต์มาส แต่ในระหว่างนั้น ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์กลับรู้สึกว่าช่วงเวลาการรอคอยของเด็กๆ จะยาวนานเกินไป จึงเกิดความคิดที่จะทำปฏิทินจุติขึ้น

ปฏิทินจุติใช้สำหรับนับวันถอยหลังสู่เทศกาลคริสต์มาส โดยวันอาทิตย์แรกที่จะเริ่มนับนั้นไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจน มีระยะเวลา 22 ถึง 28 วัน และมีวันอาทิตย์ 4 วัน จนไปสิ้นสุดในคืนคริสต์มาสอีฟ

ปี 1920 เป็นปีเริ่มต้นของปฏิทินจุติที่มีประตูเล็กๆ ออกวางขาย ภายในประตูเป็นภาพเล็กๆ หรือคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิล กระทั่งมาถึงยุคเรืองอำนาจของนาซี เบื้องหลังประตูเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นรูปภาพตัวละครจากนิทานหรือเทพเยอรมันอันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา เพื่อแยกเทศกาลคริสต์มาสออกจากเรื่องราวทางศาสนาที่เบื้องหลัง

ล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 1950s มีการปฏิรูปปฏิทินจุติอีกครั้ง ให้ราคาถูกลงและจำนวนผลิตเพิ่มขึ้น ภาพที่หลังประตูแต่ละบานเป็นภาพเมืองและทิวทัศน์ นอกจากนั้นปฏิทินบางชุดยังมีช็อกโกแลตและขนมหวานด้วย

Tannenbaum – ต้นสนคริสต์มาส

ต้นคริสต์มาสในปัจจุบันที่เห็นกันว่ามีข้าวของสีสันและแสงไฟประดับประดาสวยงามนั้น ความจริงแล้วในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ระบุถึงหนามสน เทียนไข และลูกแก้วกลมๆ แม้แต่น้อย ประวัติศาสตร์สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ เพราะเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว พื้นที่โดยรอบเบธเลเฮ็ม ซึ่งถือเป็นถิ่นกำเนิดของพระเยซูนั้น ไม่มีพันธุ์ไม้ประเภทนั้น

ไหนๆ ก็มีแล้ว และในเยอรมนีก็มีต้นคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดในโลกเสียด้วย วางประดับอยู่ในเมืองดอร์ตมุนด์ ความสูงของมันคือ 45 เมตร เป็นต้นสนสปรูซความสูงระหว่าง 3.5-5 เมตรจำนวนนับพันต้น จากป่าในเซาแอร์ลันด์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐนอร์ธ ไรห์น-เวสต์ฟาเลีย นำมาประกอบเข้ากับโครงเหล็ก คนงานใช้เวลาในการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบรวม 1,500 ชั่วโมง หรือ 62.5 วัน

ทว่าชาวเยอรมันบางคนอาจเฉลิมฉลองไปพร้อมความรู้สึกผิดในใจ ที่รู้ว่าในแต่ละปีต้นสนคริสต์มาสในประเทศของตัวเองต้องถูกโค่นถึง 29 ล้านต้น ซึ่งเทียบเท่าพื้นที่ครึ่งหนึ่งของป่าดำ ผืนป่าขนาด 6,009.2 ตารางกิโลเมตรของรัฐบาเดน-เวือร์ตเทมแบร์ก

และทั้งหมดนั้นก็เพื่อฉลองเทศกาลความสุขแบบ ‘One-Night-Stand’

 

Weiße Weihnachten – คริสต์มาสสีขาว

เพลงเทศกาลขับขานกันไปชวนให้มโนเห็นภาพและบรรยากาศ แต่ทำไมต้องมีหิมะสีขาวโปรยปกคลุมไปทั่วในคืนคริสต์มาสอีฟ ในเมื่อการเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงการจุติของบุตรพระเจ้าในเบธเลเฮ็มเมื่อกว่า 2,000 ปีนั้น อุณหภูมิไม่ได้ติดลบหรือเยือกหนาวจนมีหิมะตก อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่ได้เอ่ยถึงขั้วโลกเหนือหรือรถเลื่อนเทียมกวางด้วยเหมือนกัน

จากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ระบุว่า แม้กระทั่งพื้นที่ใกล้เทือกเขาแอลป์ของเมืองมิวนิกในทศวรรษ 1950s มีปรากฏการณ์คริสต์มาสสีขาวในทุกๆ สองปีเท่านั้น และหิมะโปรยทั่วประเทศเยอรมนีช่วงเทศกาลคริสต์มาสครั้งสุดท้ายคือปี 1981 หลังจากนั้นก็มีหิมะตกในช่วงวันคริสต์มาสที่นั่นที่นี่บ้างประปราย หรือน้อยมาก ฤดูหนาวที่เยือกหนาวจริงๆ จะเริ่มในพื้นที่ราบก็เดือนมกราคม

มาร์ติเน เรเบเทซ (Martine Rebetez) นักวิจัยสภาพภูมิอากาศชาวสวิสส์ เคยค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับคริสต์มาสสีขาว และรู้สึกสะกิดใจกับการ์ดอวยพรเทศกาลคริสต์มาสเก่าๆ จากปี 1843 ในอังกฤษที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ของฤดูหนาววาดลงในภาพ แต่ไม่กี่ปีถัดมากลับปรากฏภาพหิมะขาวโพลนตามหลังคาบ้านเรือน เธอคาดเดาว่า ศิลปินผู้วาดภาพน่าจะได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเยือนเทือกเขาแอลป์ หรือในท้องถิ่นที่มีหิมะตกในสหรัฐอเมริกา แล้วนำภาพจำเหล่านั้นมาเขียนวาด

ภาพวาดเหล่านั้นอาจมีส่วนสร้างเสริมจินตนาการของคริสต์มาสสีขาว ที่สภาพภูมิอากาศเมื่อร้อยกว่าปีนั้นไม่เป็นใจ

Weihnachtsmärkte – ตลาดคริสต์มาส

ตลาดคริสต์มาสในเยอรมนีขึ้นชื่อว่าสวยงามและเก่าแก่ไม่แพ้ใคร ในเรื่องของความเก่าแก่นั้น ทั้งเมืองเดรสเดน และเบาต์เซน ของรัฐแซกโซนี เคยถกเถียงกันเองมาหลายปีแล้วว่า ตลาดคริสต์มาสของใครเก่าแก่กว่ากัน กระทั่งเมื่อปี 2015 ก่อนนักประวัติศาสตร์พากันลงความเห็นพร้อมหลักฐาน พิสูจน์ว่า ตลาดชทรีเซลในเมืองเดรสเดนจัดงานจนถึงปีนั้นจำนวน 581 ครั้ง ส่วนตลาดเวนเซลส์ในเมืองเบาต์เซนจัดงานมาแล้ว 632 ครั้ง

แต่แค่นั้นไม่เพียงพอจะยืนยัน ยังต้องมีคนรื้อประวัติค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ และได้ข้อความบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อปี 1384 กษัตริย์เวนเซลที่ 4 (Wenzel IV) เคยรับสั่งให้พลเมืองชาวเบาต์เซนจัดตลาดค้าเนื้อขึ้นทุกปี ระหว่างปลายเดือนกันยายนถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นตลาดคริสต์มาส

ส่วนเมืองเดรสเดนนั้น พบหลักฐานที่เป็นใบอนุญาตให้จัดตลาดค้าเนื้อขึ้นที่ชทรีเซล ออกให้โดยเจ้าชายฟรีดริชที่ 2 (Kurfürsten Friedrich II) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1434 จากนั้นมีการสรุปกันว่า ตลาดชทรีเซลในเดรสเดนเป็นตลาดคริสต์มาสที่เก่าแก่ที่สุด เหตุเพราะมีหลักฐานยันยันแน่ชัด

อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงตลาดคริสต์มาสเก่าแก่ที่สุดในโลก ตลาดทั้งสองแห่งของเยอรมนีต้องถอยหลบไป เพราะตลาดคริสต์มาสในกรุงเวียนนาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1296 แล้ว

 

Zur Weihnachten – ชาวเยอรมันกินอะไรช่วงเทศกาลคริสต์มาส

อาหารประจำเทศกาลคริสต์มาสของเยอรมนี ไม่มีเมนูที่เป็นหลักแบบหนึ่งเดียวกัน ต่างครอบครัวต่างท้องถิ่นต่างก็มีอาหารประจำของแต่ละบ้านแต่ละแห่ง แต่โดยรวมแล้วสามารถระบุตามประเภทของอาหารได้ เช่น

ไส้กรอก ในคืนคริสต์มาสอีฟ หญิงและชายชาวเยอรมัน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนใต้ของเยอรมนี ราว 40 เปอร์เซ็นต์จะรับประทานไส้กรอกในตำนานที่เสิร์ฟพร้อมกับสลัดมันฝรั่ง

ห่าน-เป็ด-ไก่งวง บรรดาสัตว์ปีกเป็นที่นิยมของชาวเยอรมัน เฉพาะในช่วงวันเทศกาลคริสต์มาส 25-26 ธันวาคม เมนูห่านกริลล์ถือเป็นอาหารยอดนิยมแทบทุกเทศกาล

ปลา-ฟองดู-วีแกน ชาวเยอรมันรับประทานปลาคาร์ฟราว 6.5 เปอร์เซ็นต์ในคืนคริสต์มาสอีฟ อีก 2 เปอร์เซ็นต์นิยมปลาเทราต์หรือแซลมอน เมนูฟองดูขึ้นโต๊ะในคืนสำคัญ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสาวกมังสวิรัติมีค่อนข้างน้อย แค่เพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณของชาวคริสต์ จะถืออดในช่วงระหว่างวันนักบุญมาร์ตินที่ 11 พฤศจิกายนจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม ดังนั้นในคืนคริสต์มาสอีฟ ครอบครัวส่วนใหญ่จะเตรียมอาหารเมนูง่ายๆ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เมนูเทศกาลจริงจังในวันคริสต์มาสที่หนึ่งหรือที่สอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook