"ฟรานเซส สจ๊วร์ต" สาวงามที่สุดในโลก ผู้ทำกษัตริย์ลุ่มหลง แต่ปฏิเสธการเป็น "นางใน"
ทำความรู้จัก "ฟรานเซส สจ๊วร์ต" หญิงงามผู้ปฏิเสธการเป็น "นางใน" และราชินีคนใหม่ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สอง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากอยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ และอำนาจในยุคกลางนั้น นอกเหนือไปจากอำนาจทางศาสนาแล้ว ก็มีอำนาจกษัตริย์ อันเป็นอำนาจทางโลกย์นี่แหละ ที่ผู้คนอยากใกล้ชิดมากที่สุด
แต่ยังมีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ที่เฝ้าปฏิเสธคำร้องขอของกษัตริย์ ในอันที่จะให้เธอมาเป็น ‘นางใน’ ของพระองค์ จนกษัตริย์ที่ว่าอยากจะลุกขึ้นมาหย่าขาดจากราชินีของตัวเอง แล้วยกย่องผู้หญิงคนนี้ให้ขึ้นมาเป็นราชินีคนใหม่ – แต่เธอก็ ‘ไม่เอา’
ผู้หญิงคนที่ว่า มีชื่อว่า ฟรานเซส สจ๊วร์ต (Frances Stewart) และกษัตริย์ที่ว่า ก็คือชาร์ลส์ที่สอง ผู้มีนางในหลายคน และคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชามาก ก็คือบาร์บารา พาลเมอร์ ที่เคยเล่าถึงไปแล้วในตอนก่อน
- ฟรานเซส สจ๊วร์ต คือใคร
ที่จริงแล้ว ฟรานเซสไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดาเท่าไร เธอนับเป็นญาติห่างๆ ที่มีสายเลือดของราชวงศ์อยู่ด้วยเหมือนกัน เธอเป็นลูกของ วอลเทอร์ สจ๊วร์ต (Walter Stewart) ซึ่งเป็นแพทย์ในราชสำนักของราชินีเฮนเรียตต้า มาเรีย (Queen Henrietta Maria) ซึ่งเป็นมเหสีของชาร์ลส์ที่หนึ่ง และเป็นแม่ของชาร์ลส์ที่สองนี่เอง
แต่ฟรานเซสไม่ได้เกิดในอังกฤษ ความที่บ้านเมืองวุ่นวายกลายเป็นสาธารณรัฐ และอยู่ใต้ปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ครอบครัวของเธอจึงอพยพหนีไปปารีส ทำให้เธอเกิดที่นั่น
แต่กระนั้น หลังสิ้นยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แล้ว ลูกชายของเขาซึ่งมารับช่วงต่อนั้นไม่มีความสามารถมากพอ เขาไม่เก่งเรื่องการทหาร ดังนั้นเมื่อขึ้นมาเป็น ‘ผู้พิทักษ์’ (Protector) ซึ่งเป็นตำแหน่งของพ่อได้เพียงเจ็ดเดือน ก็ถูกปลด แล้วก็เกิดความวุ่นวายหลายประการขึ้น จนสุดท้ายอังกฤษก็กลับไปปกครองแบบกษัตริย์อีกครั้ง เรียกว่าเป็น ‘ยุคฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ’ หรือ Restoration โดยมีชาร์ลส์ที่สองขึ้นมาเป็นกษัตริย์
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เธอจึงได้กลับมาอังกฤษอีกครั้ง และได้เข้าสู่ราชสำนักโดยการชักนำของ ควีนเฮนเรียตต้า มาเรีย ซึ่งสนับสนุนให้ฟรานเซสได้ไปเป็นนางกำนัลรับใช้ใกล้ชิดกับราชินีองค์ใหม่ คือ แคทเธอรีนแห่งบราแกนซา (Catherine of Braganza) ผู้มาจากโปรตุเกส และสมรสกับชาร์ลส์ที่สองด้วยเหตุผลทางความสัมพันธ์และการเมืองมากกว่าความรักใดๆ
ชาร์ลส์นั้นมีนางในอยู่แล้ว เป็นนางในที่อาจจะ ‘ตัวแสบ’ ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษก็ว่าได้ นั่นคือบาร์บารา พาลเมอร์ หรือเลดี้แคสเซิลเมน ซึ่งนอกจากบาร์บาราจะต้องตั้งรับควีนองค์ใหม่แล้ว ต่อมา เธอยังจะต้องตั้งรับกับฟรานเซสอย่างหนักหน่วงอีก เพราะชาร์ลส์ที่สองนั้นหลงรักฟรานเซสเข้าหัวปักหัวปำ
- หญิงสาวที่สวยที่สุดในโลก
ชาร์ลส์ที่สองมีน้องสาวคนสุดท้องชื่อเจ้าหญิงเฮนเรียตต้า (ผู้มีชื่อเหมือนแม่ของเธอ คือควีนเฮนเรียตต้า มาเรีย) และเป็นเจ้าหญิงเฮนเรียตต้านี้เอง ที่ได้พบกับฟรานเซส สจ๊วร์ต ก่อนที่ฝรั่งเศส เธอเขียนมาบอกชาร์ลส์ที่สองว่าไม่อยากให้ฟรานเซสต้องจากเธอไปสู่ราชสำนักอังกฤษเลย เพราะฟรานเซสนั้นเป็น The prettiest girl in the world หรือเป็นหญิงสาวที่สวยที่สุดในโลก
หลายคนอาจคิดว่าคำกล่าวนี้เกินจริง แต่คนที่เห็นด้วยก็คือนักบันทึกพงศาวดารอย่าง ซามูเอล เพพิส (Samuel Pepys) ซึ่งบรรยายเอาไว้เช่นเดียวกันว่า นี่คือผู้หญิงที่มี greatest beauty หรือความงามอย่างที่สุดเท่าที่เขาเคยพบเห็น นั่นทำให้ฟรานเซสมีชายหมายเกี้ยวอยู่หลายคน ตั้งแต่ดยุคแห่งบักกิงแฮม รวมไปถึงคนเด่นคนดังในแวดวงสังคมอื่นๆ แต่แน่นอน ไม่มีชายใดจะแสดงความปรารถนาในตัวฟรานเซสอย่างโจ่งแจ้งมากยิ่งไปกว่าชาร์ลส์ที่สอง—ผู้เป็นกษัตริย์, อีกแล้ว
ว่ากันว่า ชาร์ลส์รู้สึกหลงใหลในตัวฟรานเซสตั้งแต่เจ้าหญิงเฮนเรียตต้าเขียนมาบอกแล้ว เมื่อมาถึงราชสำนักอังกฤษ ฟรานเซสยังอายุแค่สิบห้าปีเท่านั้นเอง ทว่าเธอก็กลายเป็นดาวเด่นตัวจริง จนได้ฉายาว่า La Belle Stuart ซึ่งก็แสดงถึงความสวยงามของเธอที่ผนวกรวมกับความเป็นฝรั่งเศสด้วย พูดได้ว่าเธอเป็น ‘เซเลบ’ แห่งราชสำนักมาตั้งแต่เริ่มต้น
พ่อกับแม่ของฟรานเซสนั้นกระตือรือร้นจะส่งเธอเข้าสู่ราชสำนักอังกฤษ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่เธอจะได้เรียนรู้โลกกว้าง และที่สำคัญก็คือจะมีโอกาสได้สามีดีๆ แต่การเข้ามาสู่ราชสำนักพร้อมคำร่ำลือว่าสวยงามต่างๆ นานานั้น ในอีกด้านก็เป็นดาบสองคม เพราะคนที่อยู่มาเก่าก่อนทั้งหลายย่อมไม่พึงพอใจเท่าไรนัก ในด้านหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับการ ‘จิกกัด’ จากผู้หญิงด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องเผชิญกับการ ‘แทะโลม’ จากบรรดาผู้ชายในราชสำนักทั้งหลายด้วย การมีชีวิตอยู่ของฟรานเซสจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เธอต้องเรียนรู้ที่จะ ‘อ่าน’ ให้ออกว่าใครมาไม้ไหน และจะต่อสู้ต่อรองกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
ในด้านหนึ่ง คนอาจชมเธอว่าสวยอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ลับหลังแล้ว เหล่าสตรีในราชสำนักผู้ชอบขยับริมฝีปากต่างก็นินทาว่าเธอนั้นโง่และตื้นเขิน สิ่งที่ฟรานเซสทำในแต่ละวันก็คือยั่วผู้ชายและเล่นไพ่ ถึงขั้นที่มีผู้เขียนเอาไว้ว่า เป็นเรื่องยากนักที่จะมีผู้หญิงคนใดที่มี less wit และ more beauty คือ ‘ฉลาดน้อยและสวยมาก’ ได้เท่ากับเธอ
- หญิงงามผู้ปฏิเสธกษัตริย์
เมื่ออายุได้ยี่สิบปี เธออยู่ในราชสำนักมาได้ระยะหนึ่ง นานพอที่จะรู้ตัวแล้วว่าเธออาจไม่สามารถต้านทานผู้ชายคนหนึ่งได้นานนัก แน่นอน ผู้ชายคนนั้นก็คือชาร์ลส์ที่สองนั่นเอง สิ่งที่เธอทำก็คือ พยายามผูกมิตรกับบาร์บารา พาลเมอร์ เอาไว้ แม้ว่ามิตรภาพที่ว่าจะไม่ง่ายเท่าไรก็ตาม เพราะบาร์บาราได้ชื่อว่าเป็นหญิงร้ายตัวแสบคนหนึ่ง ในมิตรภาพนั้นจึงต้องระวังการลอบแทงข้างหลังเอาไว้เสมอด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฟรานเซสเป็นที่ริษยาของหญิงทั้งราชสำนัก ก็คือชาร์ลส์ลุ่มหลงเธอมากถึงขั้นขอให้เธอมาเป็นแบบในการหล่อเหรียญ โดยให้ศิลปินมาสร้างแบบของเหรียญที่เรียกว่า Britannia เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดสงครามระหว่างอังกฤษกับดัตช์ โดยบริทาเนียเป็นเทพีที่นั่งอยู่ ถือหอกไว้ในมือข้างหนึ่ง อีกข้างถือเกราะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติอังกฤษ ซึ่งใบหน้าของบริทาเนีย ก็คือใบหน้าของฟรานเซส และนี่คือครั้งแรกเลยที่มีการนำบุคคลจริงๆ มาเป็นต้นแบบบนเหรียญ
ชาร์ลส์เกี้ยวเธอนานหลายปี พยายามยกที่ดินและตำแหน่งต่างๆ ให้เธอ แต่ฟรานเซสปฏิเสธมาโดยตลอด เธอพยายามรักษาพรหมจรรย์ของตัวเองเอาไว้ และปรึกษากับบาร์บาราว่าจะทำอย่างไรดี บาร์บาราหลอกล่อเธอว่า อย่ากระนั้นเลย เรามาจัดงานแต่งงานแบบ ‘หญิงรักหญิง’ กันเถอะ แม้จะเป็นงานแต่งงานหลอกๆ ระหว่างผู้หญิงสองคนเพื่อให้ความสำราญกับกษัตริย์ในยามว่าง แต่มันก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกได้เหมือนกัน เผื่อชาร์ลส์จะคิดว่าฟรานเซสไม่ได้ชอบผู้ชาย
ที่จริงบาร์บาราไม่ได้จัดงานนี้เพื่อปกป้องฟรานเซสมากเท่าปกป้องตัวเอง เธอเห็นฟรานเซสเป็นคู่แข่ง ดังนั้นถ้าทำอะไรได้เพื่อขจัดเสี้ยนหนามก็จะทำ งานนั้นบาร์บาราเลยรับบทเจ้าบ่าว ฟรานเซสเป็นเจ้าสาว โดยมีกษัตริย์นั่งดู แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการที่ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องมีกษัตริย์มาแทรกอยู่ตรงกลาง แม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรกัน และฟรานเซสยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ แต่กระนั้น แผนการณ์ของบาร์บาราก็ไม่สำเร็จ
ชาร์ลส์ยังคงตามติดฟรานเซสไม่รู้คลาย นั่นทำให้บาร์บาราต้องพยายามหาแผนการใหม่เพิ่ม
- เลือกหนีตามชายที่รัก
ในช่วงนั้น มีตัวละครใหม่ปรากฏเข้ามาในฉาก ตัวละครนั้นชื่อ ชาร์ลส์ สจ๊วร์ต (Charles Stuart) ซึ่งเป็นดยุคแห่งเลนน็อกซ์และริชมอนด์ (ซึ่งในที่นี้เราจะเรียกเขาว่า ริชมอนด์ เพื่อไม่ให้สับสนกับชื่อของตัวละครอื่น) ริชมอนด์ใกล้ชิดกับราชบัลลังก์มาตั้งแต่เกิด และเข้าเฝ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงของใครเท่าไรนัก ว่ากันว่า กษัตริย์ไม่ค่อยโปรดเขาเพราะเขาเป็นนักพนันตัวยง แถมยังเป็นคนชอบอวดโอ่ และชอบดื่มจนเมามายด้วย เขาเคยแต่งงานมาแล้วสองครั้ง แต่ภรรยาเสียชีวิตไปก่อนทั้งคู่โดยไม่มีลูกให้เขา ริชมอนด์นั้นร่ำรวย มีที่ดินมากมายทั้งในอังกฤษ สกอตแลนด์ และฝรั่งเศส
ที่จริงแล้ว ฟังดูเหมือนริชมอนด์ไม่น่าจะเป็นชายที่พึงปรารถนาสักเท่าไร โดยเฉพาะกับฟรานเซสที่น่าจะ ‘เลือกได้’ แต่โชคชะตาก็เป็นเช่นนี้เอง เราไม่รู้หรอกว่าใครเลือกรักกับใครเพราะอะไร ความใกล้ชิดระหว่างริชมอนด์กับฟรานเซสเกิดขึ้นโดยแทบไม่มีใครรู้เนื้อรู้ตัว และแล้วในค่ำคืนหนึ่ง บาร์บาราก็มากระซิบกระซาบกับกษัตริย์ บอกให้พระองค์—ไปดูอะไรนี่สิ
และอะไรที่ว่า ก็คือภาพฟรานเซสร่วมเตียงอยู่กับริชมอนด์อย่างเปลือยเปล่า แม้ทั้งคู่จะยังไม่ได้มีอะไรกัน แต่ภาพแค่นั้นก็มากพอแล้วที่จะทำให้ชาร์ลส์รู้ความจริง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าชาร์ลส์จะต้องยอมรับได้
ที่สำคัญ ถ้าฟรานเซสจะแต่งงานกับริชมอนด์ ก็ต้องได้รับราชานุญาตจากชาร์ลส์เสียก่อน และฟรานเซสก็กลัวว่าชาร์ลส์จะไม่อนุญาต ดังนั้น สุดท้ายเธอจึงเลือกหนทาง ‘หนีตาม’ ริชมอนด์ไป โดยตามเข้าไปยังคฤหาสน์ในเคนต์ และแต่งงานกันลับๆ ที่นั่น ซึ่งก็ทำให้กษัตริย์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
ฟรานเซสกลายเป็นบุคคลที่ราชสำนักไม่ต้อนรับนานถึงหนึ่งปีเต็ม แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ร้ายกาจอย่างหนึ่งขึ้น เธอติดโรคฝีดาษ!
โรคนี้เคยคร่าชีวิตพี่น้องของชาร์ลส์มาแล้วถึงสองคน นั่นทำให้ชาร์ลส์รู้สึกสงสารเธอ เมื่อเขารู้ข่าวร้ายนี้ เขาบอกว่าเรื่องนี้ทำให้เขา ‘อภัยให้เธอกับทุกเรื่องในอดีต’ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาจะให้อภัยริชมอนด์ด้วย ชาร์ลส์จึงเลือกแต่งตั้งริชมอนด์ให้เป็นทูตไปประจำอยู่ที่ราชสำนักเดนมาร์ก ฟรานเซสไม่ได้ตามเขาไปด้วย เพราะริชมอนด์อยากให้เธออยู่ดูแลทรัพย์สิน ทั้งคู่คิดว่าคงเป็นการแยกจากกันเพียงชั่วคราว แต่มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น
คืนหนึ่งในฤดูหนาวปี 1672 ริชมอนด์ขึ้นเรือฟริเกตของอังกฤษไปกินอาหารค่ำที่นั่นในฐานะแขกของกัปตัน เขาดื่มไวน์ไปอย่างน้อยๆ ก็สองขวด ขาลงจากเรือ เขาก้าวพลาด และตกลงไประหว่างเรือใหญ่กับเรือเล็ก จมลงไปในน้ำที่เย็นเยียบ แม้คนจะช่วยขึ้นมาได้ แต่อาการช็อกและอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำเกินไปก็ทำให้เขาเสียชีวิตในคืนนั้นนั่นเอง
ฟรานเซสจึงเป็นม่ายอย่างกะทันหัน สามีของเธอมีหนี้สินจำนวนมหาศาล และความที่ทั้งคู่ไม่มีทายาทด้วยกัน นั่นแปลว่าทรัพย์สินที่ดินทั้งหลายจะต้องคืนให้กับราชสำนัก แต่ชาร์ลส์ผู้ยังรักเธออยู่เสมอ (แม้จะมีนางในอีกเพียบ) ก็ยอมให้เธออาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของริชมอนด์ต่อไปจนตลอดชีวิต แต่ฟรานเซสก็ต้องเจอกับการรังควานครั้งใหม่ เมื่อน้องสาวของริชมอนด์พยายามฟ้องร้องไม่ให้ฟรานเซสเก็บเครื่องเพชรและทรัพย์สินต่างๆ ของริชมอนด์เอาไว้ คดีความยาวนานถึงห้าปี สุดท้ายฟรานเซสก็ยอมสละ เธอขายที่ดินของอดีตสามีให้กับน้องสาวของเขา โชคดี ที่ราชินีแคทเธอรีนแห่งบราแกนซายังโปรดปรานเธอ เธอจึงยังได้เงินปีทำให้อยู่ต่อได้ไม่ลำบาก และมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงยุคของควีนแอนน์
ริชมอนด์ตายในปี 1672 ขณะอายุเพียง 33 ปี ชาร์ลส์ตายในปี 1685 ขณะอายุ 54 ปี ส่วนฟรานเซสตายในปี 1702 ขณะอายุได้ 55 ปี
พูดได้ว่า ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มีชีวิตยืนยาวอะไรนัก แต่พวกเขาเต็มไปด้วยความรัก ความใคร่ ความแค้น และการแย่งชิงซึ่งความรักกันตลอดชีวิต เหนืออื่นใดนั้นการเป็นกษัตริย์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องสมหวังในทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของความรัก