การศึกษาไทยเกิดอะไรขึ้น! ผลสอบ PISA ชี้นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี
เรื่องใหญ่ของวงการ “การศึกษาของไทย” ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทยประจำปี 2022 ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี กลายเป็นดราม่าร้อนที่ชาวเน็ตร่วมกันตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ “ระบบการศึกษาไทย” อย่างรุนแรง พร้อมแสดงความกังวลถึงอนาคตประเทศไทยหากการศึกษาไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
- “ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง
- “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้” เมื่อการศึกษาไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย
- “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม
Sanook ชวนดูดราม่าการศึกษาไทยเรื่องล่าสุด ที่ว่าด้วยเรื่องผลสอบ PISA และทิศทางการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
PISA คืออะไร
การสอบ PISA หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) คือการสอบที่สำคัญของการศึกษาระดับมัธยม โดยจัดขึ้นทุก 3 ปี เพื่อวัดทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมการสอบทั้งหมด 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก รวมนักเรียนกว่า 700,000 คน และประเทศไทยก็เป็น 1 ในประเทศที่เข้าร่วมการสอบนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543
การสอบ PISA ไม่มีการกำหนดคะแนนเต็ม แต่เป็นการใช้สัดส่วนคะแนนของทุกประเทศที่เข้าสอบในแต่ละปีมาคำนวณค่าเฉลี่ย หากประเทศใดได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยก็เท่ากับว่าประเทศนั้นมีทักษะสูงกว่ามาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม การสอบ PISA ประจำปี 2022 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติที่ดำเนินการจัดสอบ โดยจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินรวม 8,495 คน จากทั้งหมด 279 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา
ผลสอบ PISA ของไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี
วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลคะแนนการสอบ PISA ประจำปี 2022 ซึ่งผลการประเมิน พบว่าทักษะของนักเรียนกำลังลดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะที่ทำการทดสอบ โดยคะแนนเฉลี่ยของแต่ละทักษะ มีดังต่อไปนี้
- คณิตศาสตร์ 394 คะแนน
- วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน
- การอ่าน 379 คะแนน
PISA ระบุว่า เมื่อเทียบคะแนนเฉลี่ยของปี 2022 กับปี 2018 จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยลดลงทั้งสามด้าน โดยคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน วิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และการอ่านมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 14 คะแนน ทั้งนี้ หากดูเฉพาะช่วง 10 ปีหลัง (2012 - 2022) จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยของทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ลดลงไปกว่า 30 คะแนน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านลดลงไปกว่า 60 คะแนน
หากเทียบประเทศไทยกับประเทศในอาเซียนจะพบว่าทักษะทั้ง 3 ด้านยังด้อยกว่านักเรียนจากประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน
ภาพรวมของนักเรียนทั่วโลก
คะแนนเฉลี่ยของการสอบ PISA ในปี 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของการอ่านทั่วโลกลดลงมา 10 คะแนน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ลดลงถึง 15 คะแนน แต่คะแนนเฉลี่ยด้านวิทยาศาสตร์ ลดลงเพียง 2 คะแนนเท่านั้น แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงของคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก แต่ PISA ก็ยืนยันว่าเป็นสาเหตุเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากคะแนนด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์นั้นลดลงมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากทั้งหมด 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่ามีเพียง 18 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจเท่านั้น ที่มีคะแนนทั้ง 3 ด้านสูงเกินมาตรฐาน และประเทศสิงคโปร์ก็ครองแชมป์ได้อันดับที่ 1 ในทุกทักษะ
ท่าทีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงผลสอบ PISA ปีล่าสุด ระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดนได้ตั้งคณะกรรมการมาแก้ปัญหานี้ ซึ่งจะร่วมประชุมกันหลังช่วงปีใหม่ เพื่อติดตามและกำหนดนโยบายเชิงรุก โดยมีเป้าหมายให้การสอบ PISA ครั้งต่อไป คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยจะไม่แย่ไปกว่าเดิม พร้อมยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัจจัยหลักที่อาจทำให้ผลคะแนนลดลง
ด้าน ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. ก็ชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้คะแนนสอบน้อยลง พร้อมแสดงความคิดเห็นว่าเหตุผลที่คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านของนักเรียนไทยได้น้อย อาจเเป็นเพราะเด็กไทยไม่ชอบอ่านโจทย์ที่ยาวๆ และต้องวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการเตรียมพร้อมสำหรับการสอบครั้งหน้า โดยจะจัดอบรมสร้างครูยุคใหม่ที่เน้นการอ่านมากขึ้น เพื่อสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ให้นักเรียนมากขึ้น