ฮือฮา ศิลปะบนนาข้าว "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว" ผลงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย

ฮือฮา ศิลปะบนนาข้าว "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว" ผลงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย

ฮือฮา ศิลปะบนนาข้าว "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว" ผลงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฮือฮา ศิลปะบนนาข้าว "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว" ผลงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย จากหนุ่ม ผจก.โรงงาน ที่ไม่มีความรู้ศิลปะมาก่อน

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ได้มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว เป็นรูปแมวสุดน่ารัก จำนวน 3 รูป บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ของงาน Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งจะจัดงานขึ้นใน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 66 ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 67 โดยงานศิลปะบนนาข้าวจะเปิดให้ชมเป็นทางการในวันที่ 30 ธ.ค. 66 ถึงประมาณ 15 มี.ค. 67 เป็นผลงานที่น่าจะใช้เนื้อที่ในการรังสรรค์ผลงานมากที่สุดในงานครั้งนี้ สถานที่ที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชมผลงานศิลปะไม่ควรพลาด เพราะหาชมได้ยาก

นายธันยพงศ์ ใจคำ หรือ ดิว ผู้จัดการหนุ่มในโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ตนเกิดและเติบโตที่บ้านขอนซุง ต.งิ้ว อ.เทิง ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรรม ทำไร่ทำนา ตนมีความผูกพันกับท้องไร่ท้องนามาตั้งแต่เด็ก รู้ซึ้งถึงคุณค่าของเม็ดข้าว และสนใจการปลูกข้าวมาโดยตลอด และในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านก็มีโอกาสได้ศึกษาพบว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว หรือ Tanbo Arto ตนเห็นแล้วก็คิดว่ามันแปลกดี และหากมีโอกาสก็อยากจะลองทำบ้าง แต่ที่ญี่ปุ่นทำมานานนับหลายสิบปี จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายของเฉดสี และมีชื่อเสียงจนสามารถจัดเป็นงานเทศกาลประจำปี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจไปเที่ยวปีละหลายแสนคน แต่ของไทยเรายังไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นนั้น แต่จากการตระเวนศึกษาในหลายไปที่ของประเทศไทย ก็พบมีหลายจังหวัดที่มีการปลูกข้าวกันแบบนี้ แต่ยังมีสีของต้นข้าวน้อย อย่างมากไม่เกิน 3 สี

นายธันยพงศ์ กล่าวว่า แต่ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้า โดยนำเอาข้าวจ้าวหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว มาผสมกับข้าวก่ำหอมนิล จนได้มาเป็นข้าวสรรพสี สายพันธุ์ RB01, RB02, RB03, RB04, และ RB05 ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีเฉดสีแตกต่างกันออกไป และได้ริเริ่มรับสมัครเกษตรกรให้เข้าร่วมสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว โดยใช้ข้าวที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสรรมาให้ ตนมีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว จึงขอยื่นสมัครไปในนามบุคคล ซึ่งจากการพิจารณาอย่างเข้มงวดของมหาวิทยาลัย สุดท้ายมีผู้ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมดประมาณ 15-16 ทีมทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะสมัครเป็นกลุ่มหรือองค์การการเกษตร รวมไปถึงนายกิตติ สิงหาปัด พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ก็มีชื่อผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในนามของ จ.ขอนแก่น

สำหรับตนถือเป็นหนึ่งใน 3 ของพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และตนเข้าร่วมโครงการในนามตัวแทน จ.เชียงราย นายธันยพงศ์ กล่าวอีกว่าหลังจากได้เมล็ดพันธุ์มาแล้ว ก็มีอีกหลายปัญหาต้องมาขบคิด เพราะยังไม่เคยทำมาก่อน ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยให้มามีจำนวนจำกัด ตนจึงเข้าไปขอคำปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความรู้และต้องการให้หน่วยงานมาร่วมสนับสนุนโครงการ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยสนับสนุน อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่เห็นรูปร่างโครงการ จึงตัดสินใจลงมือทำด้วยตนเอง โดยเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้ปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แนะนำว่าควรเพาะพันธุ์ทีละเมล็ด ตนก็หาความรู้และไปปฏิบัติตาม จนทำให้ตนมีต้นกล้าที่จะนำมาปลูกในนามากพอที่จะปลูกในเนื้อที่ 5 ไร่

จากนั้นในเรื่องการออกแบบรูปภาพบนนาข้าว นายธันยพงศ์ กล่าวด้วยว่าด้วยความที่ตนไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลย แต่คิดว่าใน จ.เชียงราย เป็นเมืองศิลปะ มีศิลปินดังๆ อยู่มากมาย ตนจึงเดินทางไปที่วัดร่องขุ่น เพื่อตั้งใจจะไปขอคำปรึกษาจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพราะตอนนั้นไม่รู้จักใครเลย แต่เจ้าหน้าที่ของวัดแนะนำว่าควรจะไปที่สมาคมขัวศิลปะ ตนก็ไปตามคำแนะนำ ซึ่งทางสมาคมขัวศิลปะได้ฟังแนวคิดแล้วเกิดสนใจ โดยเสนอว่าควรจะเข้าร่วมโชว์ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2023 ที่กำลังจะจัดขึ้นอีกด้วย และได้ส่งศิลปินเข้ามาหาในภายหลัง เพื่อเสนอแนวคิดการออกแบบรูปภาพร่วมกัน ซึ่งศิลปินที่มาออกแบบให้เขาชอบเลี้ยงแมว ก็เลยอยากออกแบบเป็นภาพแมว ตนก็เห็นดีด้วย ก็เลยออกแบบเป็นภาพแมว 3 รูป ประกอบด้วย ภาพแมวตาโต ภาพแมวนอนหลับ และไฮไลต์คือภาพแมวนอนกอดปลา ภายใต้แนวคิด "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว"

พอได้ภาพมาแล้ว ในส่วนขั้นตอนการนำภาพที่ออกแบบไปอยู่บนแปลงนาก็เป็นอีกหนึ่งงานยาก ตนต้องไปขอความร่วมมือจากช่างของกรมชลประทานที่ จ.พิษณุโลก ให้เขามาช่วยจับพิกัด GPS เพื่อวางหลักและขึงเชือกเป็นจุดๆ รวมมากกว่า 3,000 จุด เพื่อสร้างเป็นรูปภาพ โดยเครื่องมือก็ต้องขอยืมมาจากกรมที่ดิน และในขั้นตอนการปลูกก็ได้ภรรยา ลูกๆ ญาติพี่น้อง คนจากวัฒนธรรมจังหวัด ศิลปินขัวศิลปะ และหน่วยงานที่สนใจมาช่วยกันปลูก โดยเริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ใช้เวลาปลูกประมาณ 10 วัน โดยจะไล่ลำดับการปลูกไปตามความเหมาะสมของอายุข้าวแต่ละพันธุ์ เพื่อให้ตั้งท้องในช่วงเดียวกันทั้งหมด และมีการใช้ข้าวข้าวพันธุ์ IRRI และข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 มาปลูกเพิ่มพื้นที่ ทำให้ในนาข้าวของตนจะมีข้าวมากถึง 7 เฉดสี"

นายธันยพงศ์ กล่าวและว่าคาดว่าข้าวจะเริ่มเปลี่ยนสีในอีกประมาณ 2 อาทิตย์ และจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธ.ค. และในวันที่ 31 ธ.ค. ก็จะมีกิจกรรมเค้าท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในบริเวณดังกล่าวด้วย นายธันยพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าสิ่งที่ตนมุ่งหวังจากโครงการปลูกข้าวสรรพสี ปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก็คืออยากติดเป็น 1 ใน 5 อันดับแรก เพราะจะได้ร่วมทำ MOU กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งตนมีความมั่นใจว่าจะสามารถติดอันดับอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากได้รับเลือก ในพื้นที่ตรงจุดนี้ตนก็อยากจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการปลูกข้าวสรรพสี หรือการสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว และผลพวงนอกจากนั้นก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ผู้ที่สนใจอยากมาเที่ยวชมสามารถเข้ามาที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ฮือฮา ศิลปะบนนาข้าว "ในน้ำมีปลา ในนามีแมว" ผลงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook