คู่รักกรุ๊ป O เมียคลอดลูกกรุ๊ป A ผัวฟ้องหย่าทันที ผ่านมา 7 ปีความจริงปรากฏ เมียไม่ได้มีชู้!!!
คู่รักเลือดกรุ๊ป O แต่ภรรยาให้กำเนิดลูกสาวกรุ๊ป A สามีใจสลายฟ้องหย่าทันที ผ่านมา 7 ปีถึงรู้ความจริง รพ.ทำผิดพลาด เมียไม่ได้มีชู้!
ชายหนุ่มชาวไต้หวัน แต่งงานกับภรรยาชาวจีน ในปี พ.ศ.2540 และให้กำเนิดลูก 3 คน โดยลูกสาวคนเล็กที่เกิดในเดือนเมษายน พ.ศ.2551 ได้กลายเป็นต้นเหตุของการจบชีวิตคู่ เนื่องจากสามีภรรยาต่างมีเลือดกรุ๊ป O ทั้งคู่ แต่ลูกสาวคนเล็กกลับเกิดมาพร้อมเลือดกรุ๊ป A ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้"
แม้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคู่รักคือความไว้วางใจ แต่เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น สามีย่อมอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าภรรยาของเขานอกใจ และทั้งสองก็ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อน ก่อนตัดสินใจฟ้องหย่าในปี พ.ศ.2557 ยุติชีวิตแต่งงานที่กินเวลา 17 ปี และลูกๆ ก็ถูกผู้เป็นแม่พากลับไปดูแลที่เมืองจีน
กระทั่งเมื่อลูกสาวคนเล็กอายุ 13 ปี ได้กลับมาเรียนที่ไต้หวัน จู่ๆ ฝ่ายชายก็กลับไปโรงพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เพื่อขอเอกสารยืนยันกรุ๊ปเลือดของลูกสาว ซึ่งระบุชัดเจนว่าเธอมีเลือดกรุ๊ป A จึงสรุปได้ว่าภรรยานอกใจจริงๆ แล้วนำเอกสารไปยื่นฟ้องต่อศาลอีกครั้ง และขอยุติสิทธิความเป็นพ่อ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กลับแย่ลง! หลังจากที่ศาลยอมรับคดีแล้ว ชายคนดังกล่าวต้องตรวจ DNA ยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดอีกครั้ง แต่กลับพบว่าลูกสาวมีกรุ๊ปเลือด O ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าลูกสาวคือเลือดเนื้อเชื้อไขของเขา ปรากฎว่าทุกอย่างเกิดจากความผิดพลาดของโรงพยาบาลที่ทำคลอดลูกสาว
ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาล
ทางด้านโรงพยาบาลอธิบายว่า ผลการตรวจครั้งแรกของลูกสาวคนเล็กของชายคนดังกล่าว พบว่าเธอมีเลือดกรุ๊ป A แต่การตรวจซ้ำในวันเดียวกันนั้น ยืนยันว่าเธอมีเลือดกรุ๊ป O โรงพยาบาลยังระบุด้วยว่ารับทราบข้อผิดพลาดในขณะนั้น แล้วได้แจ้งเปลี่ยนกรุ๊ปเลือดที่ถูกต้องแล้ว แต่เนื่องจากระบบเวชระเบียนในขณะนั้นยังใช้กระดาษอยู่ ข้อมูลจึงไม่ได้รับการแก้ไขเมื่อแปลงเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
แน่นอนว่าผู้ชายที่หย่าร้างกับภรรยา และตัดขาดจากลูกแท้ๆ ของตัวเองมานานถึง 7 ปี ต้องช็อกเมื่อรู้ความจริง เขากล่าวว่าโรงพยาบาลที่ประมาท กังวลว่าหากลูกสาวประสบอุบัติเหตุร้ายแรง อาจถ่ายเลือดผิดจนถึงแก่ชีวิตไปแล้ว จึงเรียกร้องให้โรงพยาบาลชดเชยค่าดำเนินคดีความ ค่าตรวจ DNA และชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นมูลค่ารวม 550,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 624,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่าฝ่ายชายหย่าร้างในปี 2557 แต่ไม่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีความเป็นพ่อจนกระทั่งปี 2564 ในระหว่างนี้เขาล้มเหลวในการทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร แต่เขาปฏิเสธและยื่นคำร้องอุทธรณ์ ซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ 2 ก็พิพากษาว่า รพ.แจ้งแก้ไขกรุ๊ปเลือดทันทีที่รู้ความผิดพลาด จึงไม่มีความเสี่ยง “ถ่ายเลือดผิด” ส่งผลให้คดีทั้งหมดยุติลงแล้ว