ชวนรู้จัก "ภาระนะฆทนะ เกษตรัม" วัดที่บูชารัฐธรรมนูญ แทนรูปเคารพเทพเจ้า

ชวนรู้จัก "ภาระนะฆทนะ เกษตรัม" วัดที่บูชารัฐธรรมนูญ แทนรูปเคารพเทพเจ้า

ชวนรู้จัก "ภาระนะฆทนะ เกษตรัม" วัดที่บูชารัฐธรรมนูญ แทนรูปเคารพเทพเจ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ภาระนะฆทนะ เกษตรัม" วัดที่บูชารัฐธรรมนูญแทนรูปเคารพ สร้างจากเงินบำนาญข้าราชการเกษียณ ในประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

นับตั้งแต่ 26 มกราคม 1950 รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอินเดีย ซึ่ง ดร.บี. รา. เอมเบดการ์ (Bhimrao Ramji Ambedkar) เป็นหัวหน้าคณะร่าง ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการหลังจากประกาศเอกราชได้ราว 3 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่เคยถูกฉีก ล้มล้าง หรือท้าทาย ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงนับว่าเป็น ‘ประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’

ศิวะทาสัน ปิลไล (Sivadasan Pillai) ข้าราชการอาจารย์เกษียณอายุ วัย 71 ปี ได้ดัดแปลงอาคารบ้านพักเล็กๆ ของเขาในเขตกุทัปปันนักกุณณู (Kudappannakkunnu) เมืองติรุวนันทปุรัม (Thiruvananthapuram) ด้วยเงินบำนาญที่เขาได้รับให้กลายเป็น ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ (Bharanaghadana Kshetram) หรือวัดรัฐธรรมนูญ (Constitution Temple)

ภายในวัดประดิษฐานรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย ในสภาพเปิดอ่าน พร้อมกับแท่นประทีปเพื่อบูชา เช่นเดียวกับในห้องครรภคฤหะ (ห้องบูชาประธาน) ของเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปของเทพเจ้าตามปกติ โดยรอบวัดมีประดับประดาด้วยถ้อยคำต่างๆ จากรัฐธรรมนูญ รวมทั้งภาพของนักต่อสู้เพื่อเอกราชและความเท่าเทียมทางสังคมทั้งชาวอินเดียและต่างชาติ เช่น ดร.เอมเบดการ์, จโยติบา ผูเล่ (Jyotiba Phule), เปริยาร์ (Periyar), มหาตมะ คานธี, มาลาลา ยูซาฟไซ และอีกหลายคน

เทวสถานแห่งรัฐธรรมนูญแห่งนี้เปิดให้เข้าสักการะรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2020 (วันประกาศเอกราช) ศิวะทาสัน ปิลไล กล่าวว่า “หากเรา (คนอินเดียทุกคน) ให้ความสำคัญกับการอ่านและทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญมากพอ ความไม่เท่าเทียมใดๆ ทางสังคมของประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็น ด้านศาสนา วรรณะ เพศ และอื่นๆ จะลดน้อยถอยลง”

ในปีนี้ (2023) ศิวะทาสันได้เริ่มกิจกรรมสำคัญหนึ่ง ‘Constitutionalism’ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในรัฐธรรมในฐานะหลักปฏิบัติซึ่งทุกคนสามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เขาเชื่ออย่างสุดใจว่า หากประชาชนในทุกภาคส่วนดำเนินชีวิตตามหลักการในรัฐธรรมนูญ ทั้งในระดับวิถีชีวิตและลึกลงไปถึงระดับจิตวิญญาณ อินเดียจะยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน ฉะนั้นศิวะทาสันจึงรู้สึกว่า ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ หรือ ‘วัดรัฐธรรมนูญ’ ของเขานั้นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะสถานที่แห่งจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ

“คนรุ่นใหม่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเรา สำหรับพวกเขา วันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติ (Republic Day) เป็นเพียงวันๆ หนึ่งเท่านั้น ความพยายามเล็กๆ ของผมคือการปลูกฝังจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญและให้อำนาจแก่พวกเขา โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่า ถ้าเรายึดมั่นในพระเจ้า (รัฐธรรมนูญ) ก็จะไม่มีความขัดแย้งหรือปัญหาใดๆ ในประเทศนี้”

“เราต้องดูแลเด็กๆ และพลเมืองของเราให้ดี และผมรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญของเราเป็นไปประดุจไบเบิลที่นำทางมวลมนุษย์ และรัฐธรรมนูญของเราเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของโลก”

“รัฐธรรมนูญคือหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของเรา”

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2015 นายนาเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณะรัฐอินเดีย ได้กล่าวว่า “ศาสนาของรัฐบาล (ของเขา) คือ ก่อนอินเดีย (India First) และรัฐธรรมนูญคือ ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ ของเรา” ในขณะแถลงต่อรัฐสภาเนื่องในวันครบรอบ 125 ปี วันเกิดของ ดร.เอมเบดการ์ หัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญและนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนวรรณะล่าง

“ประเทศอย่างอินเดียมีความหลากหลายและรัฐธรรมนูญมีพลังที่จะรวมพวกเรา

“เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยของเรา สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ประชาชนจะต้องรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของรัฐธรรมนูญของเรา”

คำกล่าวของนายโมดีเมื่อปี 2015 นี้ เกิดขึ้นเมื่อสังคมอินเดียกำลังตั้งคำถามและถกเถียงในประเด็นเรื่องความไม่อดกลั้นทางสังคมและความเสื่อมถอยของรัฐฆราวาสซึ่งเป็นหลักการใหญ่หลักการแรกที่รัฐธรรมนูญของประเทศวางเอาไว้ และเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของ ดร.เอมเบดการ์ ผู้แทนฝ่ายค้านอย่าง ศศิ ทาโรร์ เคยกล่าวไว้ว่า รัฐบาลนี้อ้างถึงเอมเบดการ์ในแบบที่เอมเบดการ์จะต้องร้องไห้เมื่อได้ยิน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลโมดีโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อชาวมุสลิม และความเป็นฮินดูนิยมซึ่งนักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการหลายกลุ่มมองว่า ‘ขัด’ กับคุณค่าแห่งรัฐธรรมนูญ

คำกล่าวลักษณะนี้ได้ถูกยกกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2018 โดยผู้พิพากษาแห่งศาลสูง อาร์. เอฟ. นาริมาน (R F Nariman) เมื่อครั้งต้องเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษากรณีวัดสาบารีมาลา (Sabarimala) ซึ่งวัดมีธรรมเนียมห้ามมิให้ผู้หญิงที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่มีประจำเดือนห้ามเข้าวัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากเทพเจ้าประธานของวัด – สวามีอัยยัปปา – ทรงถือพรหมจรรย์ คำตัดสินของศาลในครั้งนั้นทางวัดแพ้และรัฐธรรมนูญชนะ

ชัยชนะของรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นก่อให้เกิดการตั้งคำถามและการประท้วงอย่างหนักในกลุ่มผู้ศรัทธาในตัวสวามีอัยยัปปา ผู้หญิงที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเดินทางเข้าไปในวัดได้ถูกกลุ่มผู้ยึดถือตามธรรมเนียมดั้งเดิมต่อว่า ขับไล่ และทำร้าย ศาลได้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ก่อนจะข้อสรุปเช่นเดิม

ผู้พิพากษา อาร์. เอฟ. นาริมาน ได้เน้นย้ำว่า “ขอให้ทุกคนจำไว้ว่า ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ อันได้แก่ ‘รัฐธรรมนูญของอินเดีย’ และเมื่อมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือแล้ว พลเมืองของอินเดียจึงสามารถเดินร่วมกันไปในฐานะ ‘ชาติ’ ด้วยรัฐธรรมนูญนี้พวกเขาจะได้ก้าวไปข้างหน้าในทุกด้านของความพยายามของมนุษย์ที่จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่กำหนดโดย ‘Magna Carta’ หรือกฎบัตรอันยิ่งใหญ่ของอินเดีย”

คำพูดของโมดีและนาริมานนั้นน่าคิดมากว่า ‘สภาวะศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย’ นั้นควรเป็นอย่างไร? รัฐธรรมนูญควรมีสภาวะนั้นไหม?

นักวิชาการด้านสังคม รัฐศาสตร์ และนักกฎหมายหลายคนคัดค้านความเชื่อนี้หัวชนฝา พวกเขามองว่าคำว่า ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ ในเชิงหนึ่งได้ให้ภาวะ ‘ไร้ข้อสงสัย’ ให้กับรัฐธรรมนูญประหนึ่งคัมภีร์ทางศาสนาที่เป็นพระวจนะของพระเป็นเจ้า ทำให้รัฐธรรมนูญเลื่อนออกห่างจากสิ่งที่รัฐธรรมนูญควรเป็น คือ ‘หลักประกันของความเป็นมนุษย์’ เพราะรัฐธรรมนูญในฐานะประดิษฐกรรมของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขความ ‘ความบกพร่อง’ และ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ของสังคมมนุษย์

ฉะนั้นในทางเดียวกัน มันจึงบรรจุคุณค่าความเป็นมนุษย์เอาไว้ ‘ความบกพร่อง’ และ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ แต่มนุษย์สามารถแก้ไขมันได้ด้วยกระบวนการทางรัฐสภาและกระบวนการทางกฎหมายอื่น ๆ เพื่อพยายามมุ่งหน้าสู่ความเหมาะสมสูงสุดตามโลกทัศน์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ในเชิงเดียวกับข้อร้องทักของนักวิชาการหลากหลายสาขาถึงความเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ การเกิดวัดที่บูชารัฐธรรมนูญแทนรูปเคารพอย่างปกติ ของชายวัยหลักเกษียณอย่าง ศิวะทาสัน ปิลไล สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียได้ก้าวล้ำเข้าไปสู่ภาวะบางอย่างที่มากกว่าเพียงประดิษฐกรรมของมนุษย์เพื่อการปกครอง และประโยชน์ทางสังคมแล้ว แต่หากพิจารณาย้อนดูคุณค่าที่ผู้สร้างวัดแห่งนี้อ้างอิงถึงคือ ‘คุณค่าของรัฐธรรมนูญ’

“ความพยายามเล็กๆ ของผมคือการปลูกฝังจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ”

สิ่งที่ตัวศิวะทาสันให้ความสนใจและเป็นจุดมุ่งหวังของเขาในการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นนั้นก้าวทะลุเข้าปกรัฐธรรมนูญไปสู่เนื้อหาภายใน และจิตวิญญาณภายของประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่รัฐธรรมนูญบรรจุเอาไว้ ซึ่งให้ความรู้สึกที่ต่างจากคำพูดของโมดีและนาริมานที่มองรัฐธรรมนูญในแบบกายภาพ ในแบบคัมภีร์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่เรา ‘ไม่’ อาจตั้งคำถามได้พลานุภาพนั้น

อย่างไรก็ดี “มันช่างดูล่อแหลมเสียนี่กะไร” คำพูดเล็กๆ ผุดขึ้นในหัวผู้เขียนเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ เรื่องราวของวัดรัฐธรรมนูญ ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของอินเดีย ในมุมหนึ่งจึงเป็นการคัดง้างกันระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในเชิงกายภาพ (หนังสือเป็นเล่มๆ) กับในเชิงคุณค่า (จิตวิญญาณแห่งรัฐธรรมนูญ) สำหรับผม มุมมองหนึ่งที่ได้จากศิวะทาสัน คือ หากเรายึดเอารัฐธรรมเป็นเล่ม เป็นตัวเล่มหนังสือศักดิ์สิทธิ์ หนังสือเล่มนั้นคงยิ่งใหญ่และไม่อนุญาตให้เราจัดต้อง ตีความ โต้แย้งได้โดยง่าย และนั่นก็คงเป็นการต่อสู้กับคุณค่าภายในของหนังสือเล่มนี้เองเสียมากกว่าความบกพร่องทางสังคมที่มนุษย์เราพยายามข้ามให้พ้นห้วง

“ฉะนั้นคุณค่าของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน?”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook