เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลแล้ว

เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลแล้ว

เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ใครหลายคนให้ความสนใจ สำหรับเรื่องการประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งมีสาระสำคัญเรื่อง “การกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ” จนหลายคนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ ว่ากฎระเบียบดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตรที่กำลังถูกคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ 

Sanook เปิดสาระสำคัญของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการ “คุมขังนอกเรือนจำ” หลังรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกหนังสือเวียนแจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศปฏิบัติตามระเบียบใหม่

สาระสำคัญ “คุมขังนอกเรือนจำ”

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2566 เรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 และส่งถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด

ระเบียบสาระสำคัญคือ “การกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ” เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขัง ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน โดยอาศัยอำนาจมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ รองปลัดฯ ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว จากเดิมที่ต้องอยู่ในเรือนจำ สามารถออกไปควบคุมตัวในสถานที่อื่นได้ แต่ไม่ใช่การปล่อยให้เป็นอิสระ โดยการคุมขังนอกเรือนจำมีข้อกำหนด 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. การจำแนกแยกคุมขัง พิจารณาว่าผู้ต้องขังไม่มีความเสี่ยง และมีความพร้อมในเรื่องสถานที่รองรับ
  2. เมื่อผู้ต้องขังออกไปอยู่ข้างนอกต้องสามารถพัฒนาตนเองและสามารถศึกษาพัฒนาอาชีพ เหมือนอยู่ในเรือนจำซึ่งมีการพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สร้างงาน และสร้างอาชีพ
  3. ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย ต้องคุมขังในสถานพยาบาลประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
  4. มีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

ลักษณะสถานที่คุมขัง

สำหรับเรื่องสถานที่คุมขัง ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. กรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
  2. กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษร หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สามารถระบุตำแหน่งของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ และต้องมีทะเบียนบ้านหรือเลขประจำบ้าน
  3. สามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรกนิกส์ (กล้องวงจรปิด) ได้

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง

ในส่วนของคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขังนั้น ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์
  2. ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่า ควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
  3. มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์ 

การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

โดยผู้ต้องขังที่จะไม่ได้รับการพิจารณาตัดเลือกไปคุมขังนอกเรือนจำ คือ 1) กลุ่มผู้ต้องขังที่มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้องถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ และ 2) กลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย

หลักเกณฑ์การพิจารณา

ในส่วนของการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณา จะยึดเหตุผลเหล่านี้ประกอบกัน

  1. ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่
  2. พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ
  3. ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ
  4. ความเสี่ยงในการหลบหนี
  5. ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน
  6. ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง
  7. ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง
  8. ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องยึดตามเอกสารที่เรือนจำเสนอ

เอื้อประโยชน์ใครหรือเปล่า

อ้างอิงจากสำนักข่าวข่าวสด รายงานว่าผู้สื่อข่าวได้สอบถามรองปลัดฯ ว่าระเบียบใหม่ดังกล่าวสามารถใช้ได้กับกรณีของทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ ซึ่งรองปลัดฯ ชี้ว่า นักโทษที่จะเข้าเงื่อนไขหนึ่งในนั้น ต้องจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษที่พิพากษา จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่ากรณีของทักษิณเข้าข่ายหรือไม่ และให้ทางเรือนจำเป็นผู้พิจารณา 

ทักษิณ ชินวัตรGetty Images

ทั้งนี้ รองปลัดฯ ได้เน้นย้ำว่า ระเบียบนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร แต่เป็นการพิจารณาเพื่อลดความแออัด และมองว่าจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ต้องขังในการพัฒนาตัวเอง สำหรับผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยก็จะได้รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้น ซึ่งจะมีความสะดวกมากกว่า โดยเฉพาะกับผู้ต้องขังวัยชรา

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook