เปิดโทษ "คดีพรากผู้เยาว์" กฎหมายชี้ แม้เด็กไม่เกิน 18 ปีเต็มใจ ก็เจอคุกเหมือนกัน
เป็นประเด็นร้อนของสังคมในตอนนี้ สำหรับกรณีของ “ครูไพบูลย์ แสงเดือน” ถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 8 ปี ในคดีพรากผู้เยาว์ อดีตภรรยา เอ๋ มิรา ทำให้โซเชียลพูดถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รวมไปถึงการหยิบยกข้อกฎหมาย “พรากผู้เยาว์” ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
Sanook สรุปข้อกฎหมายว่าด้วยการพรากผู้เยาว์ ที่อาจไม่สำคัญสำหรับใครหลายคน แต่รู้เอาไว้ก็ไม่เสียหายอะไร
“พรากผู้เยาว์” คืออะไร
พรากผู้เยาว์ คือ การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
การพรากผู้เยาว์ถือเป็น “ความผิดทางอาญา” ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก มักเป็นคดีพรากร่วมกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา, พาไปเพื่อการอนาจาร, หรือพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ถือเป็นความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำต่อเสรีภาพของผู้เยาว์ ซึ่งเป็นความผิดอาญา ไม่สามารถยอมความได้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้เป็นผู้ฟ้องหรือร้องทุกข์เอาผิดด้วยตัวเอง แต่เข้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถจับตัวผู้กระทำให้มารับโทษได้ ทั้งนี้ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 - 319 ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานพรากผู้เยาว์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
- ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ไม่ได้ให้ความยินยอม
- ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม
ผู้เยาว์เต็มใจ ก็เจอคุกเหมือนกัน
ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ยินยอมหรือเต็มใจไปด้วย บุคคลที่คิดจะพรากผู้เยาว์ก็ยังถือว่ามีความผิดและได้รับโทษติดคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท
ตรงกับกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรค 1 ว่าด้วยการพรากผู้เยาว์มาเพื่อการอนาจาร หรือเพื่อหากำไร ถือเป็นการพรากมาโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้กระทำมีความผิดฐาน “พรากผู้เยาว์” ระวางโทษตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม: