"สภาพนี้ยังข่มขืนลง" แม้แต่เหยื่อยังโดนเหยียด "คนไม่สวย" เหลือที่ยืนตรงไหนในสังคม?
"สภาพแบบนี้ยังข่มขืนเขาลง" เมื่อแม้แต่เหยื่อยังโดนเหยียดหน้าตา แล้ว "คนไม่สวย" จะเหลือที่ยืนตรงไหนในสังคม?
Precious (2009) เป็นภาพยนตร์แนวชีวิต เกี่ยวกับ แคลรีส ‘พรีเชียส’ โจนส์ (Claireece ‘Precious’ Hones) เด็กสาวผิวดำรูปร่างอ้วนวัย 16 ปี ที่เติบโตมาในย่านฮาร์เลมแห่งมหานครนิวยอร์ก นอกจากจะต้องใช้ชีวิตประจำวันโดยถูกกดทับอยู่ภายใต้อคติทางเพศ เชื้อชาติ และรูปลักษณ์ พรีเชียสยังต้องเผชิญจากความรุนแรงภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นจากแม่ผู้เกลียดลูกสาวคนเดียวของตนจับใจ และจากพ่อที่ข่มขืนเธอจนตั้งท้อง
ผลงานเรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตคนชายขอบที่อาศัยในพื้นที่เมืองออกมาได้อย่างหดหู่และมืดมน ในขณะเดียวกันก็ให้แง่คิดและสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมทั่วโลก ผ่านการแสดงที่น่าประทับใจของทีมนักแสดง
แต่ดูเหมือนว่าหลายคนกลับได้รับเมสเสจจากหนังนี้ฉีกแนวออกไป เมื่อโพสต์รีวิวหนังเก่าเรื่องนี้ ถูกแชร์เข้าไปในกลุ่มพูดคุยซึ่งเป็นที่รวมตัวของสมาชิกที่เชื่อว่า ‘ปัจจุบันสังคมเสมอภาคกันแล้ว ผู้หญิงไม่ได้มีต้นทุนต่างจากผู้ชาย แต่ยังคงบาลีเดิมให้ชายเป็นใหญ่ เพราะผู้หญิงได้ประโยชน์’ จำนวนกว่า 2.7 หมื่นคน
“สภาพแบบนี้ก็ยังข่มขืนเขาลง”
“ต้องวิตถารขนาดไหน”
“น่าตั้งคำถามว่าหนังสมจริงแค่ไหน สร้างมาเพื่ออะไร”
อันแสดงให้เห็นถึงมุมมองของคนส่วนหนึ่งที่ยังติดอยู่ในกับดักทางความคิดที่ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเหตุข่มขืนนั้น คือปัจจัยด้านรูปลักษณ์ของเหยื่ออย่างการแต่งตัว สีผิว หรือรูปร่าง กลับกลายเป็นว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหยื่อข่มขืนที่หลุดกรอบมาตรฐานความงามจึงถูกตั้งคำถามว่า ‘ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง’ เสียอย่างนั้น
"สวยไม่พอให้ข่มขืน" หนทางรอดยอดฮิตของอาชญากร
ข้ออ้าง ‘น่าเกลียดเกินกว่าจะข่มขืนลง’ กลายมาเป็นเครื่องมือที่ผู้ต้องหาคดีก่อความรุนแรงทางเพศมากมาย นำมาใช้แก้ต่างทั้งต่อหน้าชั้นศาลและผู้คนในสังคม
หนึ่งในนั้นคือชายที่หลายคนคงรู้จักดี จากการเห็นหน้าค่าตาของเขาตามบทความข่าว นั่นคืออดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
อี. จีน แคร์รอล (E. Jean Carroll) นักข่าว นักเขียน และคอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสาร Elle หนึ่งในผู้หญิงทั้งหมด 26 คนที่ออกมาเล่าเรื่องราวการเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศของเขา ตัดสินใจเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือของเธอ ทำให้ทรัมป์ต้องออกมาสวนทันควันว่าเธอ “ไม่ตรงสเปก” ของเขา และใช้เรื่องนั้นเป็นข้อแก้ต่างที่พิสูจน์ว่า ตนไม่มีทางที่จะไปข่มขืนเธอ
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทรัมป์พยายามดิสเครดิตผู้หญิง ด้วยการดูถูกหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของเจ้าตัว
นอกจากแคร์รอลแล้ว เจสสิกา ลีดส์ (Jessica Leeds) นักธุรกิจหญิงผู้ออกมาเปิดเผยว่า ทรัมป์เคยล้วงมือเข้ามาใต้กระโปรงและลวนลามเธอขณะเดินทางกับเที่ยวบินแห่งหนึ่งในช่วงยุค 80s
เช่นเคย ทรัมป์ออกมาตอบโต้ด้วยคำพูดเชิงดูถูกว่า
“เชื่อผมเถอะ แบบเธอน่ะ ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่ผมจะทำหรอก”
ที่น่าเศร้าคือไม่ใช่เพียงแต่อาชญากรฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ใช้ข้อแก้ต่างเป็นรูปร่างหน้าตาของเหยื่อ เพราะแม้แต่ศาลหรือสาธารณชนเองก็ต่างเชื่อและให้น้ำหนักกับความคิดทำนองนี้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่นกรณีคำตัดสินของศาลฎีกาอิตาลีเมื่อปี 2019 ที่ปัดตกคำให้การว่าถูกข่มขืนของหญิงรายหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า เธอดู ‘เหมือนผู้ชาย’ เกินกว่าจะดึงดูดให้ผู้ต้องหาชายข่มขืนได้
หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น ก็มีกรณีข่าวฉาวของ ดอมีนิก สเตราส์-กาห์น (Dominique Strauss-Kahn) นักการเมืองคนดังของฝรั่งเศส ที่ถูกแฉโดย นาฟิสซาตู ดียาโล (Nafissatou Diallo) แม่บ้านโรงแรมที่เขาเข้าพักว่า เขาได้ล่วงละเมิดทางเพศเธอเมื่อปี 2011 แต่แทนที่ชาวเน็ตจะเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ความผิดของเขา คนเหล่านั้นกลับหันมาตั้งคำถามกับรูปร่างหน้าตาของแม่บ้านรายดังกล่าวว่า ‘น่าเกลียด’ เกินไปหรือเปล่า สำหรับผู้หญิงที่ถูกลวนลาม
ปิดปากเหยื่อด้วยการพรากไปซึ่ง Self-Esteem
ซาราห์ คุก (Sarah Cook) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและรองคณบดีมหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตต (Georgia State University) กล่าวถึงประเด็น ‘ความงาม’ และ ‘การข่มขืน’ ว่า
“จะเห็นได้ว่าเหยื่อข่มขืนนั้น มีได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงหญิงชราอายุ 90 ปี ดังนั้น การข่มขืนไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกดึงดูดทางเพศ แต่เป็นการแสดงอำนาจผ่านเครื่องมือคือพฤติกรรมทางเพศ”
การเชื่อมโยงแนวโน้มในการพบประสบเหตุการณ์รุนแรงทางเพศกับรูปลักษณ์ของผู้หญิง เป็นแนวคิดที่อันตรายกับคนหลายกลุ่ม เพราะนี่คือการบอกเป็นนัยว่า ผู้หญิงเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงการถูกข่มขืนได้ หากเพียงพวกเธอมีรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่แวดล้อมผู้ก่อความรุนแรง ซ้ำร้ายยังไปลดทอนอำนาจในการตัดสินใจของคนเหล่านี้ว่าถูกควบคุมโดย ‘ปัจจัยกระตุ้น’
และที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้น คือมันสามารถลดทอนความน่าเชื่อถือของเหยื่อที่มีรูปลักษณ์ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานความงามของยุคสมัย นอกจากจะทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวดและไร้คุณค่าแล้ว มันยังพรากเอา ‘ความกล้า’ ของเหยื่อในการที่จะลุกขึ้นมาเปิดเผยความจริงและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองอีกด้วย
เพราะต่อให้ไม่มีคำพูดที่เลวร้ายเหล่านี้ เหยื่อข่มขืนส่วนใหญ่ต่างมีปัจจัยส่วนตัว ที่ทำให้รู้สึกลังเลหรือไม่อยากพูดถึงความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ความรู้สึกอับอาย ขยะแขยง เกลียด หรือแม้แต่โทษว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำให้ถูกข่มขืน
การกล่าวถึงรูปลักษณ์ของพวกเขาในฐานะตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือว่าถูกข่มขืนจริงหรือไม่ จึงไม่ต่างจากการซ้ำเติมให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเอง ‘ไม่น่าเชื่อถือ’ ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่กับเหยื่อคนใดคนหนึ่งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังฝังรากลึกลงในจิตใจของคนในสังคมที่รับรู้เหตุการณ์
หลายครั้ง สื่อกระแสหลักพยายามสร้างภาพจำให้การข่มขืนให้มีเหตุกระตุ้นเป็นรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจของเหยื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนอาจบังเอิญโชคร้าย เข้าไปอยู่ในวงโคจรของผู้มีพฤติกรรมทางเพศที่อันตรายเมื่อไรก็ได้ ไม่ว่าเราจะมีรูปร่าง หน้าตา สีผิว และสถานะทางสังคมแบบใด
ปัจจัยหลักที่สังคมควรเพ่งเล็งให้มาก จึงไม่ใช่แนวโน้มที่ผู้ถูกกระทำจะดึงดูดความรุนแรงทางเพศ แต่เป็นแนวโน้มที่ผู้กระทำจะลงมือก่อความรุนแรงทางเพศต่างหาก