จุดเริ่มต้นขบวนการ "อ.น้องไนซ์" ผู้นำลัทธิเชื่อมจิต หรือเด็กไม่รู้เดียงสา ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ?
ขบวนการ "อาจารย์น้องไนซ์" เมื่อพ่อแม่นักแสวงผลประโยชน์ มาคู่กับมาตรการคุ้มครองเด็กที่ขาดหาย
นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างทั้งความกังวลและความฉงนให้กับสังคมไทยมาเป็นเวลาหลายเดือน กับกลุ่มผู้ศรัทธา ‘อาจารย์น้องไนซ์ นิรมิตเทวาจุติ’ หรือเด็กชายนิรมิต วัย 8 ขวบ ผู้อ้างตนเป็นร่างอวตารองค์เพชรภัทรนาคานาคราช ด้วยความสามารถในการ ‘เชื่อมจิต’ และ ‘หยั่งรู้’ เรื่องราวต่างๆ ในโลก ทั้งอดีตและอนาคต รวมถึงเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ที่บอกเล่าจากปากพ่อแม่ ทำให้เขามีผู้ติดตามทั้งผ่านช่องทางโซเชียลฯ และที่เดินทางไปร่วมฟังเขาถ่ายทอดคำสอนตามจังหวัดต่างๆ รวมหลายพันคน
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 มีอดีตผู้ศรัทธาออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับผู้ปกครองรวมถึงผู้ใหญ่รอบตัวที่มีส่วนร่วมในการจัดการกิจกรรมและรายได้ต่างๆ ที่ได้รับจากผู้ศรัทธา ระบุว่า ตนถูกเตะออกจากห้องโอเพนแชต หลังตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและปลายทางของเงินรายได้ ที่ไหลสะพัดเข้าไปยังขบวนการอย่างต่อเนื่องด้วยแรงศรัทธาของผู้เลื่อมใส
จุดเริ่มต้นของขบวนการและความไม่ชอบมาพากล
เรื่องราวของน้องไนซ์เริ่มถูกบอกเล่าจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรกจากคลิปวิดีโอ ‘กิจกรรมเชื่อมจิต’ มากมายหลายคลิป ที่กลายเป็นไวรัลด้วยภาพอันแสนประหลาดของ ‘ศิษยานุศิษย์’ วัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่ก้มกราบเด็กวัยประถม หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่น้องไนซ์ยกน้ำในแก้วขึ้นราดบนศีรษะของหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนหัวเราะด้วยท่าทีไม่รู้เดียงสาตามประสาเด็ก
ภายหลัง แม่ของน้องไนซ์ออกมาชี้แจงคลิปดังกล่าวว่า เกิดจากการ ‘เชื่อมจิต’ ของน้องไนซ์กับผู้เข้าร่วมรายนั้นที่รู้สึกไม่สบายใจและนึกอยากให้น้องรดน้ำให้ แต่น้องไนซ์กลับรับรู้จิตของบุคคลนั้นได้โดยที่เขาไม่ต้องบอกกล่าว จึงเอาน้ำราดลงบนหัวของอีกฝ่าย ทำให้เจ้าตัวรู้สึก ‘ปีติ’ มาก ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ จึงสนใจอยากให้น้องรดน้ำให้ด้วยเช่นกัน
เรื่องราวความมหัศจรรย์ในวัยเด็กของน้องไนซ์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ชาติกำเนิด’ เดิมที่เป็นเทพจุติลงมา หรือสติปัญญาที่มากพอจะสอนให้พ่อแม่นั่งสมาธิตั้งแต่ตนอายุเพียง 3 ขวบ ถูกบอกเล่าควบคู่ไปกับกิจกรรม ‘เผยแผ่ธรรมะ’ บนโลกออนไลน์ ที่ครอบครัวสนับสนุนให้น้องทำมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี โดยใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตช่วยเผยแผ่แทนการเดินธุดงค์ ผ่านทั้งช่องทาง TikTok ยูทูบ เฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์โอเพนแชต
ภายหลังจึงเริ่มมีการขยับขยายมาจัดกิจกรรมออนไซต์ เช่น การสนทนาธรรม กิจกรรมเชื่อมจิต คอร์สอบรมต่างๆ แบ่งออกเป็นแพ็กเกจราคาที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่คอร์สราคา 1,900 บาท ที่ได้รับแค่อาหารเบรก คอร์สอื่นๆ ที่มีราคาบวกเพิ่มเข้าไปตามระดับความสะดวกสบาย จาก 2,000 หรือ 4,000 บาท ไปจนถึงคอร์สวีไอพีที่ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มอีก 1,200 บาท เพื่อนอนค้างคืน
นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนให้สมาชิกเข้าร่วมกองทุนคนละ 300 บาท เพื่อสมทบทุนจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม โดยมีการตั้งงบประมาณเอาไว้ 15 ล้านบาท และใช้โมเดลสามมิติจำลองสถานปฏิบัติธรรมในการสร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดใจให้คนมาเข้าร่วม
โดยบัญชีปลายทางที่ใช้รับเงินทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการจัดกิจกรรมหรือเงินบริจาค กลับไม่ใช่บัญชีที่ตั้งขึ้นในนามองค์กรหรือมูลนิธิ แต่เป็นบัญชีส่วนตัวของนายแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของคลินิกเฉพาะทางด้านการพัฒนาเด็ก ทันทีที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือทำผิดกฎเหล็กที่ห้ามส่งสลิปเข้ากลุ่มเพื่อแจ้งยอด คนเหล่านั้นจะโดนลบออกจากกลุ่มทันที
ผู้นำลัทธิหรือเด็กไม่รู้เดียงสาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ?
แน่นอนว่าชื่อเสียงที่สั่งสมมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ย่อมไม่ได้นำมาซึ่งความชื่นชมและศรัทธาเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้ไม่เห็นด้วยบนโลกออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ ด่าทออย่างรุนแรง ไปจนถึงตัดต่อภาพล้อเลียน
เหล่านี้คือสิ่งที่น้องไนซ์ต้องแบกรับด้วยวัย 8 ขวบ จากการที่พ่อแม่และคนรอบตัว ร่วมมือกันส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เขาสร้างตัวตนไว้บนโลกออนไลน์ โดยไม่รู้เท่าทันถึงผลกระทบที่จะตามมา เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า เบื้องหลังม่านน้องไนซ์เต็มใจที่จะผลิตคอนเทนต์เหล่านี้แค่ไหน เพราะผู้ที่สามารถเข้าถึงรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ย่อมไม่ใช่น้องไนซ์เอง แต่เป็นผู้ใหญ่สักคนที่มีอำนาจปกครองเหนือตัวเด็ก
เจนเน็ตต์ แม็กเคอร์ดี (Jennette McCurdy) นักแสดงสาวผู้เริ่มเส้นทางอาชีพของตนในฐานะนักแสดงเด็กของดิสนีย์ชาแนล เขียนหนังสือชีวประวัติเล่าชีวิตอันขมขื่นในวัยเด็กของเธอ ที่ต้องถูกแม่อารมณ์แปรปรวนคอยกดดันให้เธอทำตามความฝันของแม่ โดยไม่สนใจความต้องการของเธอเลย และตั้งชื่อหนังสือเล่มนั้นว่า ‘ฉันดีใจที่แม่ตาย’ (I’m Glad My Mom Died)
เช่นเดียวกัน ในปี 1989 แกรี โคลแมน (Gary Coleman) เจ้าของบทบาทอาร์โนลด์ แจ็กสัน (Arnold Jackson) จาก Diff’rent Strokes ซิตคอมเรื่องดังของยุค 80s ซึ่งเป็นดาราเด็กที่ได้ค่าตัวเยอะที่สุดในสมัยนั้น ตัดสินใจฟ้องร้องพ่อแม่ของตัวเอง โทษฐานใช้เงินหลายล้านเหรียญฯ ที่เขาหาได้ตอนยังเป็นเด็กจนหมดเกลี้ยง โดยโคลแมนเพิ่งจะได้รับรู้ความจริงข้อนี้ หลังจากตนถึงวัยบรรลุนิติภาวะแล้วพบว่า บัญชีธนาคารของเขาไม่มีเงินเหลืออยู่เลย
เช่นเดียวกับคนดังเหล่านี้ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์เด็กๆ ทั่วโลก ที่ต้องรับหน้าที่ร้องเพลง เต้น ทำการแสดง ท่องบท หรือแม้แต่ทำอาหารอยู่หน้ากล้อง โดยไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะขัดขืนในทุกครั้งที่ผู้ปกครองยกกล้องมือถือขึ้นมาถ่ายภาพและอัดเสียงของพวกเขาลงบนสื่อโซเชียลฯ สิ่งแรกที่เราควรกังวลทุกครั้งเมื่อเสพข่าวและคอนเทนต์เกี่ยวกับน้องไนซ์ คือสวัสดิภาพและสิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดจากผู้ปกครอง รวมไปถึงความตระหนักรู้ของผู้ปกครองเกี่ยวกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของเด็ก
มาตรการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ปกครองที่ขาดหายไปในปัจจุบันนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงทางสังคมแห่งยุคสมัยที่เรายังต้องหาคำตอบกันต่อไป เพื่อค้นหาความสมดุลระหว่างสิทธิของรัฐที่จะปกป้องพลเมืองกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน กับสิทธิของผู้ปกครองในการตัดสินใจว่าจะเลี้ยงดูบุตรหลานตามที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสม
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ