งีบหลับ ≠ อู้งาน ผลวิจัยชี้ พนง.นอนกลางวัน 20 นาที ในช่วงเวลานี้ อาจสร้างผลงานดีขึ้น

งีบหลับ ≠ อู้งาน ผลวิจัยชี้ พนง.นอนกลางวัน 20 นาที ในช่วงเวลานี้ อาจสร้างผลงานดีขึ้น

งีบหลับ ≠ อู้งาน ผลวิจัยชี้ พนง.นอนกลางวัน 20 นาที ในช่วงเวลานี้ อาจสร้างผลงานดีขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การดื่มกินมีความสำคัญมากฉันใด การหลับนอนก็มีความสำคัญมากฉันนั้น งีบหลับ ≠ อู้งาน ผลวิจัยชี้ พนักงานที่นอนกลางวัน อาจทำให้ประสิทธิภาพงานสูงขึ้น

ว่ากันว่าการเล่นหยอกล้อกับคนที่อดหลับอดนอนก็เหมือนกับกำลังเล่นกับไฟ นอกจากการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานอีกหลายด้าน เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลให้คิดงานไม่ออก หัวตื้อจนไอเดียไม่กิ๊บเก๋ยูเรก้า ไปจนถึงอ่อนเพลีย และไม่มีสมาธิ

เมื่อนาฬิกาเริ่มคล้อยบ่าย หลายครั้งกลับกลายเป็นช่วงเวลาเชื่องช้าเซื่องซึมที่สุดของวัน เพราะต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกที่เหมือนจงใจทิ้งน้ำหนักมาที่เปลือกตาโดยเฉพาะ ผสมโรงกับแอร์ที่เย็นฉ่ำ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศให้ง่วงหงาวหาวนอนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นหลายคนจึงหาทางออกและวิธีรับมือด้วยกาแฟอีกสักแก้วสองแก้ว หรือขนมจุบจิบเพื่อให้ปากไม่ว่าง 

แต่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น คือการพักงีบในช่วงเวลา 13.00-16.00 น. โดยกะเวลาให้ไม่เกิน 20 นาทีต่อวัน

ไม่ว่าบางคนตอนกลางคืนจะนอนน้อย หรือบางคนได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่การงีบหลับตอนกลางวันก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะงานวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่างชี้ชัดว่า พนักงานที่นอนพักกลางวันเป็นระยะเวลาสั้นๆ (Siesta หรือ Power nap) มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น และยังมีร่างกายแข็งแรงในระยะยาว ส่งผลให้หลายบริษัทในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีนโยบายหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานได้พักผ่อนระหว่างวัน เช่น ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น เพื่อให้พนักงานได้ชาร์จพลังก่อนกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงบ่าย

การงีบหลับตอนกลางวันส่งผลดีอย่างไรบ้าง

  • 1. ช่วยให้สมองเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น มีความตื่นตัว ส่งผลต่อสมรรถภาพการจำและการตอบสนอง นอกจากนี้การนอนกลางวันยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพการจดจำและการเรียนรู้ได้ดีกว่าการดื่มคาเฟอีน
  • 2. ผ่อนคลาย ลดความเครียดจากแรงกดดันในที่ทำงาน ช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
  • 3.ผลวิจัยชี้ว่าแม้ไม่ได้นอนหลับ แต่เพียงนอนอยู่กับที่นิ่งๆ ก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
  • 4. มีความดันโลหิตลดลง ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • 5. ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

งีบหลับอย่างไรให้ได้ประโยชน์และไม่เสียการเสียงาน

  • 1. ไม่รับประทานอาหารก่อนนอน เพราะร่างกายจะย่อยอาหารขณะที่ยืนหรือนั่ง ควรกินอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
  • 2. ตั้งนาฬิกาปลุกก่อนนอน โดยงีบหลับเป็นระยะเวลา 10-20 นาที งานวิจัยพบว่าการนอนหลับในช่วงนี้เป็นการสร้างความสดชื่น มอบการตื่นตัวและการสร้างพลังงาน ซึ่งการหลับในระยะเวลานี้เป็นการหลับไม่ลึก หากใครมีปัญหานอนกลางคืนยากไม่ควรนอนกลางวันเกิน 20 นาทีต่อวัน
  • 3.หากงีบเป็นเวลา 30 นาที อาจทำให้เกิดอาการงัวเงียตามมา และต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาที จึงจะกลับสู่สภาวะปกติและได้รับผลลัพธ์ของการงีบกลางวัน 

“เราอยากจะลบความคิดที่ว่า การงีบหลับระหว่างคือการอู้งานให้หมดไป”  โซอิจิโระ ทาคาชิมะ (Soichiro Takashima) ผู้ว่าฯ เมืองฟุกุโอกะ กล่าวหลังการเปิดตัวแคมเปญสนับสนุนพนักงานบริษัทท้องถิ่นให้มีช่วงเวลาพักงีบ โดยเขาเชื่อว่าการงีบหลับเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

เมื่อได้รับการพักผ่อน ชาร์จพลังที่เพียงพอแล้ว ก็ควรกลับไปทำงานให้เต็มที่เพราะการมีระเบียบมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ก็สำคัญไม่แพ้การหลับนอน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook